ข่าว

เตรียมแผนรับ "โควิด19" ระลอกใหม่ เปิดเกณฑ์ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ หากระบาดรุนแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.เตรียมรับมือ "โควิด19" ระบาดระลอกใหม่ เตรียมพร้อมหากประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น เผยเกณฑ์ล็อกดาวน์กรุงเทพฯอีกครั้งหากพบมีการระบาดรุนแรง ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง

ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่างระหว่างการแถลงข่าว การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ "โควิด19" ระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ว่า  กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการเฝ้าระวังการระบาดของ"โควิด19" โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดมากยิ่งขึ้นอยู่ขณะนี้ ซึ่งมาตรการที่ กทม.ดำเนินการอยู่นั้นได้มีการดำเนินการอย่างครอบคลุม ทั้งการตรวจคัดกรอง การเฝ้าระวังการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นระบบปิด ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีการระบาดของ"โควิด19" ในร้านอาหารในลักษณะดังกล่าวค่อนข้างมาก รวมไปถึงการเฝ้าระวังแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดที่ กทม. ดูแลมาตั้งแต่ช่วงการระบาดในระลอกที่ผ่านมา โดยขณะนี้พบว่าเหลือประมาณ 3 จุด เท่านั้นที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง  

 

นอกจากนี้กทม. ยังเน้นการตรวจ "โควิด19" แบบเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนแออัด สถานประกอบต่าง ๆ ซึ่งการตรวจเชิงรุกจะเน้นการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ซึ่งขณะนี้สามารถตรวจได้ประมาณวันละ 4,000 รายต่อวัน โดยจากการเข้าไปตรวจเชิงรุกนั้นส่วนใหญ่จะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 1-2 % เท่านั้น โดยหากผลตรวจเป็นบวก จะมีการนำผู้ติดเชื้อตรวจยืนยันอีกครั้งด้วย RT-PCR และรับเข้าสู่ระบบการดูแลทั้งแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ทันที

 

โดยทางกทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมของระบบดังกล่าวเพื่อรองรับในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่งสูงมากขึ้น ซึ่งระบบการดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation ของกทม.นั้นสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 100,000 คน ส่วนจุดตรวจ ATK ขณะนี้นั้นมีทั้งหมด 13 จุด ซึ่งประชาชนที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

  • แนวทางการประเมินความเสี่ยงของการระบาด และการสั่งปิดสถานที่เพิ่มเติม รวมไปถึงเกณฑ์การล็อกดาวน์ 

ร.ต.อ. พงศกร กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงการระบาด"โควิด19" ในพื้นที่กทม. นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการสั่งปิดสถานที่เพิ่มเติม แต่กทม.เน้นย้ำให้สถานประกอบการต่าง ๆ ปฏิบัติตามมาตรการ Covid free Setting  โดยร้านอาหารจะต้องเข้าสู่ระบบ SHA+ ทุกร้านและสามารถเปิดบริการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 3 ทุ่มตามมติของศบค. และจะต้องมีการจัดพื้นที่โดยการเว้นระยะห่าง ไม่จัดพื้นที่สำหรับเต้น  ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ ทั้งนี้กทม.ได้ออกประกาศเรื่องสั่งปิดสถานที่เสี่ยงล่าสุดให้สถานบริการสามารถยื่นเรื่องของเปลี่ยนรูปแบบการบริการเป็นร้ายอาหารได้ภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ หากพ้นจากนี้ไปจะไม่อนุญาตให้เปิดบริการ  

ส่วนกรณีที่จะมีการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ หรือไม่นั้น กทม.จะพิจารณาตามสถานการณ์ และปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันที่เพิ่มจำนวนสูงมากยิ่งขึ้น
  • อัตราการครองเตียงของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 
  • การเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ  อาทิ คลัสเตอร์ร้านอาหาร สถานประกอบการ  ตลาดสด 
  • ความเพียงพอของระบบการดูแลผู้ติดเชื้อ การตรวจเชิงรุก ทั้งรูปแบบ ATK และ RT-PCR
  • มาตรการ หรือมติของศบค.ที่มีการประกาศ เพื่อควบคุมการระบาด

ซึ่งจากการประเมินขณะนี้นั้นระบบต่าง ๆ ยังสามารถรองรับได้อยู่ อย่างไรก็ตามแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกกกันการระบาดของ กทม. จะดำเนินการให้สอดคล้องกับมติของศบค. 

  • การเตรียมความพร้อม เข้าสู่การประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น 

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขนั้น กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการตรวจหาผู้ติดเชื้อในรูปแบบ ATK Frist ระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน หากตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ เพื่อเป็นการลดอัตราจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะต้องเข้าสู่ระบบการดูแลในโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ที่มีอาการหนัก โดยช่วงนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของโรค ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนขณะนี้การติดเชื้อโควิด19 มีอาการน้อยเนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว อีกทั้งการระบาดของ "โอไมครอน" แม้จะเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อติดแล้วอาการไม่รุนแรง รวมไปถึงการเข้าถึง ATK สามารถทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการดูแลตัวเองที่บ้านจึงสามารถทำได้ โดยกทม.จะคอยสนับสนุนอุปกรณ์ แพทย์เพื่อให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถก้ามเข้าสู่การเปลี่ยนโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ 

 

พญ.ป่านฤดี กล่าวต่อว่า ด้านการเตรียมระบบรองรับเด็กเล็กที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้กทม.ได้เตรียมศูนย์พักคอยสำหรับเด็ก รวมทั้งแผนการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรอการจัดสรรวัคซีนจากทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะสามารถเริ่มฉีดได้ประเมินเดือนกุมภาพันธุ์ ทั้งนี้ต้องย้ำว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนในเด็กนั้นจะดำเนินการตามความสมัครของผู้ปกครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นจากทางสถานศึกษา

logoline