ข่าว

ศรีสุวรรณ จ่อยื่น ป.ป.ช. พรุ่งนี้ เอาผิด ประภัตร ปกปิด "โรค ASF"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมยื่น ป.ป.ช. พรุ่งนี้ เอาผิด รมช. เกษตรฯ ประภัตร โพธสุธน ซึ่งกำกับ ดูแลกรมปศุสัตว์ ผิดพลาดล้มเหลว ปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ "ASF"

 

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 14 ม.ค.65 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยังป.ป.ช.นนทบุรีเพื่อนำข้อมูลหลักฐานไปร้องขอให้สอบ(เพิ่ม)เอาผิด รมช.ประภัตร โพธสุธน ซึ่งกำกับ ดูแล กรมปศุสัตว์ ซึ่งผิดพลาด ล้มเหลว และปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้อ "โรคอหิวาต์แอฟริกาหรือ ASF"
        

 

ทั้งนี้เนื่องจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 1662 / 2562 เรื่อง มอบหมายอำนาจหน้าที่ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ(นายประภัตร โพธสุธน) กำกับดูแล กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การสะพานปลา นั้น

 

กรณีที่ปรากฏเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับการปกปิดการแพร่ระบาดของ"เชื้ออหิวาต์แอฟริกา" หรือ " ASF" ของกรมปศุสัตว์ ทำให้หมูของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายเล็ก รายกลาง ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ทำให้หมูขาดตลาด เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้หมูแพงในปัจจุบัน

 

ความผิดพลาด ล้มเหลวของกรมปศุสัตว์ต่อกรณีดังกล่าว ย่อมเชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) ที่กำกับดูแล กรมปศุสัตว์ ตามอำนาจหน้าที่ด้วย

ทั้งนี้เมื่อวานนี้ ( 12 ม.ค. ) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเป็นที่สงสัยว่าบริษัทใดได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร "ASF"  ทั้ง ๆ ที่มีรายงานว่าไทยพบหมูติดเชื้อ ASF ตัวแรกในจ.เชียงรายตั้งแต่ปี 2562 แต่กรมปศุสัตว์กลับไม่ยอมประกาศว่าพบการระบาด อันเป็นข้อพิรุธว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเลี้ยงหมูหรือไม่

 

การปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์หมู (ASF) ที่ส่งผลให้ ผู้เลี้ยงหมู รายย่อยล้มหายไปเป็นจำนวนมากแต่กรมปศุสัตว์กลับอ้างเป็นโรคเพิร์ส(PRRS) ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว จึงไม่มีมาตรการออกมารองรับตามที่พ.ร.บ.โรคระบาด 2558 กำหนดไว้ เป็นเหตุให้ "หมูแพง" กว่าเท่าตัว เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และทำให้สินค้าอื่น ๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกันเป็นทิวแถว

การปิดบังข้อมูลโรคระบาดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทสามารถส่งออกหมูได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การส่งออกหมูมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจาก 3,571 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็น 15,863 ล้านบาทในปี 2563 และค่อยลดลงหลังกัมพูชาและเวียดนามตรวจพบว่าหมูจากไทยติดเชื้อ ASF แต่ผลประโยชน์หลักหมื่นล้านบาทนั้นต้องแลกกับการที่คนไทยต้องซื้อ "หมูแพง" ขึ้น

 

กรณีดังกล่าวองค์กรไบโอไทยได้คำนวนจากราคา "หมูแพง" จากฐานราคาหมูเนื้อแดง 142 บาท/ก.ก. ก่อนพบโรคระบาด และคาดการณ์ว่าราคาหมูจะแพงขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าตัวเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น พบว่าคนไทยซึ่งบริโภคหมูเฉลี่ยคนละ 24 ก.ก./ปี จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อหมูที่แพงขึ้นอย่างน้อย 200,000 ล้านบาท/ปี ไม่นับความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยนับหมื่นนับแสนรายที่จะต้องออกจากอาชีพ

 

คาดการณ์ว่าหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู จะทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสูญหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต การแปรรูป การกระจายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ครบวงจรมากขึ้น สามารถกำหนด "ราคาเนื้อหมู"ได้ตามต้องการ อันชี้ให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นอีกด้วย


ทั้งนี้นายศรีสุวรรณ เชื่อว่าการปกปิดข้อมูลดังกล่าวทำให้บริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทได้ประโยชน์จากการที่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำเป็นต้องนำความมาร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอหน่วยงานรัฐตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตาม รธน.2560 ม.230(2) ประกอบ ม.51 และ ม.59 
 

logoline