ข่าว

ภาวะ "Long COVID" งานวิจัยพบอาการตึงเครียด งุนงง มีความผิดปกติทางอารมณ์

13 ม.ค. 2565

ภาวะ "Long COVID"หมอธีระเปิดผลวิจัยพบอาการใหม่เกิดภาวะตึงเครียด งุนงง เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ กระทบการใช้ชีวิต ต้องจ่ายค่ารักษาอาการข้างเคียงสูง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด19 รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลภาวะคงค้าง ของผู้ติดเชื้อโควิด หรือ "Long COVID" โดยระบุว่า 
13 มกราคม 2565
ทะลุ 317 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,925,509 คน ตายเพิ่ม 7,337 คน รวมแล้วติดไปรวม 317,026,990 คน เสียชีวิตรวม 5,529,026 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี และสเปน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.28
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 43.69 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 49.61 
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต Omicron
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนการติดเชื้อใหม่ของทั่วโลกสูงขึ้นมาก
อัตราการติดเชื้อใหม่เฉลี่ยของทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 50% นั้น ทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา มีอัตราการเพิ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่ทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และโอเชียเนียนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า
มองดูในเอเชีย จำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ของไทยเราสูงเป็นอันดับ 6 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.35 เท่า โดยติดไป 49,033 คน 

...อัพเดตการวิจัย "Long COVID"
Carter SJ และคณะจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยที่เป็น Long COVID ใน medRxiv เมื่อวานนี้ 12 มกราคม 2565
พบว่าหากเปรียบเทียบกันกับคนปกติ

ผู้ป่วย Long COVID นั้นนอกจากจะมีอาการคงค้างต่างๆ ตามที่เราเคยทราบมาก่อนแล้ว ยังพบว่าทำให้มีสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวันแย่กว่าคนปกติอย่างมีนัยสำคัญ การออกกำลังกายในยามว่างลดลง มีภาวะตึงเครียด งุนงง และความผิดปกติทางอารมณ์

 

หากมองเชิงระบบ ไม่ว่าจะระบบสังคม หรือระบบการทำงานในระดับหน่วยงานรัฐและเอกชน การติดเชื้อจำนวนมาก ย่อมทำให้มีโอกาสที่จะมีคนที่เป็น Long COVID มาก ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ผลิตภาพจะลดลง รวมถึงส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ว่าจะในครอบครัว และในที่ทำงาน

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการปัญหา Long COVID และภาระต่อระบบสุขภาพระยะยาวย่อมมีสูงเป็นเงาตามตัว

...สำหรับพวกเราทุกคน 
ควรป้องกันตัวและครอบครัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั่นนอกเป็นหน้ากากผ้า 
อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
หากไม่สบายคล้ายหวัด ให้คิดถึงโควิดไว้ด้วยเสมอ หาทางตรวจรักษา


อ้างอิง
Carter SJ et al. Functional status, mood state, and physical activity among women with post-acute COVID-19 syndrome. medRxiv. 12 January 2022.