ข่าว

ช่างบังเอิญหลังหมูแพง โรคASF  ราชกิจจาฯ ประกาศสาธารณสุขจัดระเบียบฟาร์มหมู

ช่างบังเอิญหลังหมูแพง โรคASF ราชกิจจาฯ ประกาศสาธารณสุขจัดระเบียบฟาร์มหมู

13 ม.ค. 2565

ช่างบังเอิญ หมูแพง โรคASF ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศสาธารณสุขกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร ให้เวลา 30 วันในการปรับปรุงตามมาตรการนี้

 

ท่ามกลางสถานการณ์หมูราคาแพง ขณะที่กรมปศุสัตว์ ออกมาแถลงจากการเก็บตัวอย่างฟาร์มหมู300 กว่าแห่ง พบ 1 แห่งมีเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ โรคASF ทำให้ต้องมีมาตรการควบคุมดูแล  ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร พ.ศ. 2564 ลงราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.65 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

 

ประกาศฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาว่า โดยที่ปัจจุบันการประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร ก่อให้เกิด ผลกระทบจนเป็นเหตุรำคาญหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากขาดมาตรการในการควบคุม และป้องกันมลพิษของเสียอันตราย สารเคมี วัตถุอันตราย จึงสมควรกำหนดระยะห่างและหลักเกณฑ์ เพื่อเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบดังกล่าว

 

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๖ วรรคสอง และข้อ ๒๒ วรรคสอง ของกฎกระทรวงควบคุม สถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๖๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุม และป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร พ.ศ. 2564"

 

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

ข้อ ๓ ในประกาศนี้ "สถานประกอบกิจการ" หมายความว่า สถานที่ที่ใช้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา ๓๑ เฉพาะกิจการประเภทการเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร

 

"ผู้ดำเนินกิจการ" หมายความว่า เจ้าของ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำ เนินการของ สถานประกอบกิจการ

 

"ผู้ปฏิบัติงาน" หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการ

 

"โรงเรือน" หมายความว่า อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีหลังคา โดยภายในแบ่งกั้นเป็นคอก หรือรูปแบบอื่น สำหรับใช้เพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร

"ส้วมน้ำ" หมายความว่า พื้นที่หรือสถานที่ และให้หมายความรวมถึงบริเวณที่มีลักษณะ เป็นบ่อ แอ่ง หรืออ่าง สำหรับให้สุกรแช่น้ำและรองรับสิ่งขับถ่ายจากสุกร

 

"ของเสีย" หมายความว่า มูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือสิ่งอื่นใด อันเกิดจากการประกอบกิจการเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ซากสุกร สิ่งขับถ่ายจากสุกร กากตะกอน หรือสิ่งตกค้าง จากการจัดการน้ำเสีย 

 

 

ข้อ ๔ สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญ หรือ ผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามที่ประกาศนี้กำหนด

 

ข้อ ๕ สถานประกอบกิจการต้องมีระยะห่างจากศาสนสถาน โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้พิการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ในบริเวณ ดังต่อไปนี้

 

(1) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ สิบเอ็ด ถึง ยี่สิบตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า ห้าสิบเมตร

 

(2 ) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ยี่สิบเอ็ด ถึง ห้าสิบตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า หนึ่งร้อยเมตร

 

(๓) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ห้าสิบเอ็ด ถึง ห้าร้อยตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า สองร้อยเมตร

 

(๔) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ห้าร้อยเอ็ด ถึง ห้าพันตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า หนึ่งพันเมตร

 

(๕) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ห้าพันเอ็ดตัวขึ้นไป ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า สองพันเมตร ในกรณีที่สถานประกอบกิจการใดมีเหตุจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสุกรจนไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ดำเนินกิจการแจ้งเหตุจำเป็น และจำนวนสุกรที่เพิ่มขึ้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในระยะเวลา สิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง และต้องดำเนินการให้จำนวนสุกรเป็นไปตามวรรคหนึ่งภายใน ระยะเวลาเก้าสิบวัน

 

ข้อ ๖ บริเวณเพาะพันธุ์ เลี้ยง อนุบาลสุกร และบริเวณที่กำจัดของเสีย ต้องอยู่ห่างเขตรั้ว ของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งต้องมีที่ว่างอันปราศจากหลังคา หรือสิ่งใดปกคลุมโดยรอบบริเวณนั้น ไม่น้อยกว่ายี่สิบเมตรทุกด้าน เว้นแต่ด้านที่มีแนวเขตที่ดินติดต่อกับที่ดินของผู้ประกอบกิจการรายอื่น และควรมีการปลูกต้นไม้ที่มีความสูงและทรงพุ่มที่เหมาะสมสำหรับเป็นแนวป้องกัน เพื่อช่วยลด การแพร่กระจายของมลพิษ เช่น กลิ่น ฝุ่น ออกสู่ภายนอก

 

ข้อ ๗ ผู้ดำเนินกิจการต้องควบคุม และป้องกันมิให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุรำคาญ หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๘ ข้อ ๙ และข้อ ๑๐

 

ข้อ ๘ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ

 

(๑) ลักษณะโรงเรือน ต้องเป็นอาคารที่มีความมั่นคง แข็งแรง อยู่ในสภาพดี ปลอดภัย การระบายอากาศที่ดี อากาศถ่ายเทสะดวก และระบบระบายน้ำเพื่อรวบรวมน้ำเสียไปบำบัดด้วยวิธีการ ที่เหมาะสม รวมทั้งต้องบำรุงรักษา ทำความสะอาดโรงเรือน ระบบระบายอากาศ และระบบระบายน้ำ อย่างสม่ำเสมอ 

 

(๒) พื้นโรงเรือนอยู่ในสภาพดี มีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหลลงทางระบายได้สะดวก ดูแล รักษาพื้นโรงเรือนให้แห้งและสะอาด ในกรณีที่เป็นพื้นคอนกรีต หรือพื้นลักษณะอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเก็บกวาดมูลสุกรและเศษสิ่งตกค้างจากพื้นคอกทุกวัน และล้างทำความสะอาดสม่ำเสมอ

 

(๓) จัดพื้นที่ดำเนินกิจการเป็นสัดส่วนและเหมาะสม เช่น พื้นที่เพาะพันธุ์ เลี้ยง อนุบาลสุกร พื้นที่จัดเก็บอาหารสุกร ยา วัคซีน พื้นที่ผสมอาหารสุกร พื้นที่ตากมูลสุกร พื้นที่บำบัดหรือก าจัดของเสีย รวมทั้งต้องบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สะอาด สามารถป้องกันกลิ่น ฝุ่น เชื้อโรค แมลงหรือสัตว์ ที่เป็นพาหะนำโรคด้วย

 

(๔) มีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยงสุกรและมีสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนที่เหมาะสมกับจำนวนสุกร สายพันธุ์ ขนาด และอายุของสุกร โดยเฉพาะโรงเรือนเพาะพันธุ์ เลี้ยง และอนุบาลสุกร ต้องมีที่ขังหรือคอกกั้น เป็นสัดส่วน เหมาะสมกับจำนวนสุกร ไม่ให้สุกรอยู่อย่างแออัด ทั้งนี้ พื้นที่ ในการเลี้ยงสุกรต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

(๕) โรงเรือนที่มีส้วมน้ำ ต้องกำจัดสิ่งขับถ่ายจากสุกรและล้างทำความสะอาดทุกวัน

 

(๖) โรงเรือนที่มีการใช้วัสดุรองพื้น ต้องบำรุงรักษาและเปลี่ยนวัสดุรองพื้นตามระยะเวลา ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน และการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลง หรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค

 

(๗) เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงสุกรในแต่ละรุ่น ให้ทำความสะอาดคอกเพื่อชะล้างมูลสุกรและ สิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ตามซอกพื้น เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน และมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ ที่เป็นพาหะนำโรค ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือน และอุปกรณ์ก่อนนำสุกรรุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง

 

ข้อ ๙ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ วัตถุดิบ และอาหารสุกร

 

(๑) เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ เช่น พัดลมระบายอากาศ รวมถึงสวิตช์ และสายไฟต่าง ๆ ต้องติดตั้งหรือจัดเก็บเป็นระเบียบ ปลอดภัย ทำความสะอาดสม่ำเสมอ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ หากพบการชำรุด ต้องหยุดใช้งานและดำเนินการซ่อมแซม แก้ไข พร้อมทั้งจัดให้มีป้ายห้ามใช้

 

(๒) ทำความสะอาดภาชนะ อุปกรณ์ให้อาหารและน้ำสุกร เป็นประจำ

 

(๓) จัดเก็บวัตถุดิบ และอาหารเลี้ยงสุกรที่มิดชิด สามารถป้องกันแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค และป้องกันการเสื่อมสภาพ เพื่อลดกลิ่นรบกวน

 

ข้อ ๑๐ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการของเสียที่เกิดจากการประกอบกิจการ

 

(๑) การจัดการมูลฝอย

(ก) มูลฝอยต้องจัดให้มีภาชนะรองรับที่เพียงพอและถูกหลักสุขาภิบาล คัดแยกมูลฝอย ทั่วไป มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น วัสดุมีคม เข็มฉีดยา ยาเสื่อมสภาพ ภาชนะ บรรจุสารเคมี และนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

(ข) การจัดการมูลสุกร ให้รวบรวมและบำบัดด้วยวิธีการตาก หมัก ระบบแก๊สชีวภาพ หรือวิธีการอื่นใดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ ต้องมีระบบ วิธีการ หรือมีโครงสร้างที่สามารถ ป้องกันกลิ่นรบกวน และมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคได้

(ค) การจัดการซากสุกรต้องใช้วิธีที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค และไม่เกิดปัญหามลพิษต่อชุมชนและ สิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

 

1) วิธีการฝัง ต้องมีพื้นที่เพียงพอ อยู่ในบริเวณน้ำท่วมไม่ถึง และห่างจากแหล่งน้ำ ให้ฝังไว้ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร โรยปูนขาวหรือราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วกลบหลุม และคลุมดินให้แน่น เหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ไปคุ้ยเขี่ย

 

2) วิธีการเผา ให้ทำในบริเวณที่เหมาะสมและเผาซากจนหมด ตามประกาศกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

3) วิธีการทิ้งในบ่อทิ้งซากของสถานประกอบกิจการ ต้องถูกสุขลักษณะ โดยต้อง กำจัดซากสุกรในบ่อที่ปิดมิดชิด และมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะ นำโรคได้

 

4 ) วิธีการอื่นใดให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ราชการกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

(ง) กรณีสุกรป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สุกรเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัย ว่าเป็นโรคระบาด ต้องมีการจัดการซากสุกรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง

 

(๒) การจัดการมลพิษ

 

(ก) ทำความสะอาดตัวสุกร คอกสุกร และรางให้อาหาร มิให้เกิดการสะสมของ น้ำปัสสาวะ มูลสุกร และเศษอาหาร เพื่อลดปัญหากลิ่นรบกวน

 

(ข) จัดให้มีและบำรุงรักษาท่อ รางระบายน้ำเสีย หรือน้ำทิ้งให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ สะอาด ปราศจากน้ำขังและการสะสมของมูลสุกรหรือกากตะกอน เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวนและการเป็น แหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะน าโรค

 

(ค) การบำบัด หรือการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากการประกอบกิจการ ให้ดำเนินการ โดยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นได้ ก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่ภายนอก หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ภายในสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีสถานประกอบกิจการไม่เข้าข่ายบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ดำเนินกิจการต้องมีมาตรการจัดการน้ำเสียเบื้องต้น เช่น บ่อเกรอะ บ่อซึม ที่มีขนาดเหมาะสมและเพียงพอต่อปริมาณความสกปรกที่เกิดขึ้น ก่อนระบายสู่ภายนอก

 

(ง) การจัดการกากตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากการจัดการน้ำเสียต้องรวบรวมและกำจัด หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในในบริเวณใกล้เคียง

 

(จ) มาตรการลดกลิ่นอันเกิดจากการประกอบกิจการด้วยวิธีที่เหมาะสม ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ค่ามาตรฐานความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากสถานประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

(ฉ) มาตรการควบคุมระดับเสียงในสถานประกอบกิจการต้องดำเนินการมิให้มีระดับเสียง เกินกว่าที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด

 

ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ศาสนสถาน โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้นหรือผู้พิการ เข้ามาตั้งอยู่ใกล้กับสถานประกอบกิจการตามประกาศนี้ เป็นเหตุให้สถาน ประกอบกิจการมีระยะห่างไม่เป็นไปตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง ให้สถานประกอบกิจการนั้นจัดให้มีมาตรการ ป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และให้ประกอบกิจการตามเดิมต่อไปได้

 

ข้อ ๑๒ สถานประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ ใช้บังคับให้ประกอบกิจการตามเดิมต่อไปได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง และข้อ ๖ แต่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณ ใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้นำความในข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ และข้อ ๑๐ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม สถานประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้เพิ่มจำนวนสุกรมากกว่าที่มีอยู่เดิม เว้นแต่กรณี มีเหตุจำเป็นให้นำความในข้อ ๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ประกาศ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ 

 

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

คลิกอ่านฉบับเต็ม 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร พ.ศ. ๒๕๖