ข่าว

ครั้งแรก นวัตกรรมระบุอัตลักษณ์ "ควาย" โดยใช้ AI

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมนักวิจัย ม.มหิดล ไขความลับที่น่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ ค้นพบวิธีใหม่นวัตกรรม ระบุอัตลักษณ์ "ควาย" โดยใช้ AI จดจำและจำแนก ลายจมูก ครั้งแรก

ชาวนา เปรียบเหมือน กระดูกสันหลังของชาติ คอยปลูกข้าวเลี้ยงคนในชาติให้อิ่มท้อง “ควาย” เปรียบได้กับ กระดูกสันหลังของชาวนา อีกที โดยเป็นทั้ง “เครื่องมือ” ในการทำนา และเป็น “เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก” ของชาวนามานับตั้งแต่ที่มีการใช้ควายไถนาเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก

 

รศ.ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิจัยนำโดย นายสัตวแพทย์อุดม เจือจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กรมปศุสัตว์ รศ.ดร. นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้ง นายสัตวแพทย์อภิชาติ ภะวัง นายสัตวแพทย์บพิธ ปุยะติ นายสัตวแพทย์สุรพงษ์ เสนาใหญ่ สัตวแพทย์หญิงธีราภรณ์ พรหมภักดี และสัตวแพทย์หญิงสุนิสา กินาวงศ์ 

บุคลากรเหล่านี้คือ กลุ่มนักวิจัยไทยที่เป็นกลุ่มบุกเบิก และไขความลับที่น่าอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ว่า ในขณะที่ “คน” ใช้ “ลายนิ้ว” ในการระบุอัตลักษณ์ แต่กับ “ควาย” เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากของชาวนานี้ ใช้ “ลายจมูก” ในการระบุตัวตนที่แตกต่าง จากการทุ่มเททำวิจัยโดยได้สัมผัสจริงกับชีวิตแห่งท้องทุ่ง

 

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ ได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างคุณูปการต่อวงการเกษตรไทย ด้วยการจำแนกเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย จนสามารถคว้ารางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

มาในปี 2565 นี้ ผลงานนวัตกรรมของ รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ สามารถสร้างชื่อคว้ารางวัลจากวช.ได้อีกครั้ง ในประเภทรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จากการใช้เทคนิค Machine Learning เพื่อการจดจำและระบุอัตลักษณ์ของ “กระบือปลัก” ซึ่งเป็นประเภทของควายที่พบมากที่สุดในประเทศไทย โดยเรียกชื่อสายพันธุ์ตามอุปนิสัยที่ชอบอยู่ในปลักโคลนตามท้องไร่ท้องนา

 

จากในอดีตของประวัติศาสตร์ปศุสัตว์โลกที่ผ่านมาได้มีความพยายามด้วยวิธีการต่างๆ นานาที่จะจำแนก และระบุอัตลักษณ์ของปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ใช้เหล็กเผาไฟจนร้อนแล้วนาบลงบนตัวสัตว์ การเจาะหูติดเบอร์ มาจนถึงวิธีการฝังไมโครชิพ ซึ่งล้วนเป็นการทรมานสัตว์ ทำให้สัตว์ต้องได้รับความเจ็บปวด จากมากมาหาน้อย แม้วิธีการฝังไมโครชิพจะเป็นวิธีล่าสุดที่ทำให้สัตว์เจ็บน้อยที่สุด แต่กลับพบอุปสรรค ขาดความคล่องตัวจากการที่จะต้องอาศัยฮาร์ดแวร์ในการอ่านข้อมูล

 

ด้วยเทคนิคการใช้ Machine Learning เพื่อการจดจำและระบุอัตลักษณ์ของ “กระบือปลัก” โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ “ลายจมูก” ที่ได้รับการค้นพบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ และคณะวิจัยนี้ นอกจากจะไม่ทำให้สัตว์เจ็บแล้ว ยังสามารถพัฒนาต่อยอด โดยใช้เป็นแพลตฟอร์มในการจดจำและระบุอัตลักษณ์ของสัตว์เศรษฐกิจประเภทอื่นๆ ต่อไปได้อีกในอนาคต

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ ยังได้เป็น 1 ใน 39 นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีผลงานวิจัยซึ่งได้รับการอ้างอิงเป็นร้อยละ 2 ของนักวิทยาศาสตร์โลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2564 (World's Top2% Scientists by Standford University 2021) ที่ผ่านมาอีกด้วย

 

เพื่อรองรับอนาคตแห่งการสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจไทยสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรซึ่งเป็น “อัจฉริยะทาง IT” เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ ได้มี “AI Center” เพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 12 ซึ่งว่าด้วยการบริโภคและการผลิตด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) ซึ่งรวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

 

โดย “AI Center” จะเป็นศูนย์กลางซึ่งใช้พื้นที่ของอาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อการรองรับเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยี AI ขั้นสูงสู่การสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกันในหลากหลายสาขา ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศได้ต่อไป

....ฐิติรัตน์ เดชพรหม...รายงาน...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ