
วาฬเพชฌฆาตฆ่าคนปัญหาอยู่ที่มนุษย์หรือสัตว์?
มลฤดี จันทร์สุทธิพันธุ์
หนึ่งในอาชีพในฝันของคนรักสัตว์น่าจะเป็นครูฝึกสัตว์น้ำที่ได้เข้าร่วมการแสดงโชว์ด้วย และการแสดงโชว์ของสัตว์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ การแสดงของวาฬเพชฌฆาต หรือออร์กา สุดยอดนักล่าแห่งท้องทะเลที่แสนจะฉลาดเฉลียว
ทว่า การเสียชีวิตของ ดอว์น บรันโช ครูฝึกวัย 40 ปี ที่ถูกวาฬเพชฌฆาตชื่อ "ติลิคุม" ซึ่งเคยมีประวัติทำร้ายครูฝึกเสียชีวิตมาแล้ว ทำร้ายจนเสียชีวิตหลังเสร็จสิ้นการแสดงโชว์ ทำให้เกิดข้อกังขาเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์และสุดยอดนักล่าจากทะเลตัวนี้อีกครั้ง ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่เราควรจะไปใกล้ชิดกับสัตว์ขนาดยักษ์ที่มีความเป็นเพชฌฆาตนี้
ไม่มีใครรู้ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สลดใจนี้ขึ้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังยอมรับว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะค้นหาคำตอบว่า เหตุใดเจ้า ติลิคุม ซึ่งแปลว่า "เพื่อน" ในภาษาอินเดียนแดงเผ่าชีนุก ถึงได้ทำเช่นนี้
อีกทั้งยังทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไรกับเหล่าออร์กาที่ยังคงถูกขังอยู่ในสวนน้ำต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีมากถึง 42 ตัว ในจำนวนนี้ 10 ตัวเกิดในที่คุมขัง
"วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์ที่มีการเข้าสังคมสูงมาก และเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน ดังนั้น การจับมันมาขังให้อยู่ในที่แคบๆ จึงค่อนข้างเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมจอมปลอมให้ออร์กา" แอนดรูว์ ฟุต ผู้เชี่ยวชาญด้านวาฬเพชฌฆาตตามธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ประเทศอังกฤษกล่าว
ขณะที่ แดนนี โกรฟส์ จาก สมาคมอนุรักษ์วาฬและโลมา (ดับเบิลยูดีซีเอส) กล่าวว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นย้ำเตือนให้เราตระหนักว่าออร์กานั้นเป็นสัตว์ป่าผู้แข็งแกร่ง และคาดเดาไม่ค่อยได้ โดยที่ผ่านมา มีสถิติวาฬเพชฌฆาตที่ถูกขังไว้ทำร้ายคนราว 24 ครั้ง
เปรียบเทียบกับกลุ่มที่อยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีสถิติทำร้ายมนุษยเช่นกัน แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
หนึ่งในผู้เกือบตกเป็นหยื่อคือ คริส เพียร์พอยท์ นักวิจัยจากสมาคมสังเกตการณ์สัตว์น้ำ ซึ่งเคยทำงานในแอนตาร์กติกแถบขั้วโลกใต้ เผยว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยตกเป็นเหยื่อในแผนการล่าอันแยบยลของกลุ่มวาฬเพชฌฆาต
การล่าเหยื่อในธรรมชาติของออร์กา ซึ่งกินแมวน้ำเป็นอาหาร จะใช้วิธีว่ายน้ำพร้อมกันตรงดิ่งไปหาแมวน้ำที่นอนผึ่งตัวบนแผ่นน้ำแข็ง ก่อนจะใช้ร่างอันใหญ่โตทำให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดแมวน้ำเคราะห์ร้ายให้ตกลงไปในน้ำเป็นอาหารพร้อมเสิร์ฟ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เพียร์พอยท์เจอ แต่โชคดีที่เขาไม่ได้ตกน้ำ
ส่วนเหตุการณ์ออร์กาล่าเหยื่อที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว เมื่อนักเล่นกระดานโต้คลื่นถูกออร์กาผลักให้ตกน้ำ แต่สุดท้ายเจ้าวาฬก็ไม่ได้กัดเขาแม้แต่แผลเดียว ส่วนเด็กคนหนึ่งในอลาสกา ก็เคยรายงานว่าเกือบจะถูกออร์กาทำร้ายขณะกำลังว่ายน้ำ โดยเขาเห็นฝูงออร์กาว่ายตรงดิ่งมาหา แต่เปลี่ยนใจไม่ทำร้ายเขาในนาทีสุดท้าย
หนึ่งในแนวคิดที่อธิบายเหตุการณ์เหล่านี้คือฟองอากาศที่เกิดจากชุดยางเทียมของมนุษย์นั้น อาจทำให้ประสาทรับเสียงของออร์กาสับสน และไม่ทราบว่ากำลังตรงเข้าหามนุษย์
กระนั้น เหตุการณ์ทำร้ายตามธรรมชาติก็เกิดขึ้นน้อยมากเสียจนผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้
"แต่ละครั้งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ เพราะปกติวาฬเพชฌฆาตอาศัยอยู่ในน้ำเย็นจัด ดังนั้น จึงไม่ค่อยเจอกับมนุษย์มากเท่าใดนัก" ดร.ฟุตกล่าว
อีกทั้งเหตุการณ์ออร์กาที่ถูกคุมขังทำร้ายครูฝึกครั้งล่าสุดนี้ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เรารู้เรื่องเกี่ยวกับสุดยอดนักล่าแห่งท้องทะเลชนิดนี้น้อยเหลือเกิน โดยเรารู้เพียงแค่วาฬเพชฌฆาตเหล่านี้แสนเฉลียวฉลาด และมีความซับซ้อนทางสังคมของมันเองมากเพียงใด
ส่วนการศึกษาวาฬที่ถูกขัง แม้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาพฤติกรรมการฟังเสียงของออร์กาได้ แต่ก็ไม่สามารถศึกษาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของวาฬที่ถูกขังได้อย่างแท้จริง
"สิ่งหนึ่งที่ผมหวังคือเหตุการณ์สลดใจครั้งนี้จะนำไปสู่การพูดคุยเรื่องยกเลิกการแสดงของสวนน้ำเหล่านี้ในที่สุด" ดร.ฟุตกล่าวอย่างมีความหวัง
ขณะที่แนวทางเบื้องต้นในการป้องกันการเสียชีวิตนี้ ก็มีอยู่ 2-3 แนวทาง โดยแนวทางแรกคือการจำกัดไม่ให้ครูฝึกเข้าไปใกล้สระน้ำที่วาฬอาศัยอยู่มากเกินไป ส่วนอีกแนวทางคือการฆ่าวาฬที่มองว่าอาจเป็นอันตรายหากเลี้ยงต่อไป
ส่วนแนวทางสุดท้าย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่พอใจสำหรับนักสิทธิสัตว์คือ การปล่อยวาฬเพชฌฆาตที่ถูกขังไว้ให้กลับไปอยู่ตามธรรมชาติในทะเลอันกว้างใหญ่
ที่ผ่านมา ดับเบิลยูดีซีเอสมักเรียกร้องให้สวนน้ำต่างๆ นำวาฬที่ขังไว้ไปปล่อย เพราะการขังวาฬเอาไว้ทำให้อายุขัยของมันสั้นลงตามไปด้วย
แต่การทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ผลการศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐ และเดนมาร์กนำออกเผยแพร่ทางวารสารวิทยาศาสตร์สัตว์น้ำเมื่อปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า การพยายามนำ เคอิโกะ วาฬเพชฌฆาตชื่อดังผู้เคยแสดงหนังเรื่อง ฟรี วิลลี ไปปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ด้วยอายุเกือบ 2 ขวบ เคอิโกะถูกมนุษย์จับมาขังไว้ตั้งแต่ปี 2522 ก่อนจะมีโอกาสได้ไปร่วมแสดงหนังเรื่องฟรี วิลลี เมื่อปี 2536 ซึ่งความโด่งดังของหนังทำให้เกิดกระแสกดดันให้ปล่อยเคอิโกะกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฝึกให้เคอิโกะคุ้นเคยกับสภาพท้องทะเลในปี 2539 ก่อนที่ปี 2543 ครูฝึกได้พาเคอิโกะลงสู่ท้องทะเลเปิดที่ได้รับการทำขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวเคอิโกะให้พร้อมก่อนกลับคืนสู่ชีวิตตามธรรมชาติ
แต่สุดท้าย เคอิโกะซึ่งเป็นวาฬเพศผู้ ไม่สามารถสื่อสารกับออร์กาที่อยู่ตามธรรมชาติ และไม่สามารถเข้าร่วมกับออร์กากลุ่มอื่นๆ ได้ อีกทั้งยังลำบากในการเรียนรู้ที่จะล่า และมักจะอยู่บนผิวน้ำ หรือดำน้ำได้ตื้นกว่าวาฬตามธรรมชาติ
ที่สำคัญ แม้ครูฝึกจะพยายามอย่างเต็มที่ เคอิโกะก็ยังไม่สามารถตัดขาดการติดต่อกับมนุษย์ได้ และยังคงติดตามหรือว่ายกลับมายังเรือของครูฝึกอยู่เสมอ จนท้ายที่สุด เคอิโกะหมดลมหายใจขณะอาศัยอยู่ในทะเลแบบกึ่งถูกขัง ขณะอายุได้ 26 ปี
"การปล่อยเคอิโกะกลับสู่ธรรมชาติพิสูจน์ให้เห็นว่า การปล่อยสัตว์ที่ถูกขังมานานนั้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะในขณะที่เราต้องการปล่อยสัตว์ที่ถูกจองจำเป็นเวลานานเหล่านี้กลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ความอยู่รอด และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมันก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในการทำเช่นนั้นเหมือนกัน" ผลการศึกษาสรุป
ส่วนความคืบหน้าของเจ้าติลิคุม ซึ่งเป็นวาฬเพชฌฆาตตัวใหญ่ที่สุดและอายุมากที่สุดที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ล่าสุด ทางซีเวิลด์ตัดสินใจให้มันอาศัยอยู่กับสวนน้ำต่อไป
เปิดโลกกว้าง
ที่มา : บีบีซี