ข่าว

ก้าวไกลจี้กกต.ฟัน “ธรรมนัส-พปชร.” หาเสียงเข้าข่ายสัญญาให้ผลประโยชน์

ก้าวไกลจี้กกต.ฟัน “ธรรมนัส-พปชร.” หาเสียงเข้าข่ายสัญญาให้ผลประโยชน์

12 ม.ค. 2565

“ก้าวไกล” จี้กกต.ฟัน “ธรรมนัส-พปชร.” ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานคลิปการปราศรัยหาเสียง พบมีเนื้อหาสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง

วันนี้ (12 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จังหวัดสงขลา นายธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา ในนามพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมงาน เข้ายื่นเอกสารคำร้องต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

ก้าวไกลจี้กกต.ฟัน “ธรรมนัส-พปชร.” หาเสียงเข้าข่ายสัญญาให้ผลประโยชน์

 

นายธิวัชร์ได้นำหลักฐานเป็นภาพคลิปวีดีโอที่ ร.อ.ธรรมนัส ปราศรัยบนเวที มามอบให้ กกต.สงขลา เพื่อพิจารณา พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าในวันนี้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนที่ กกต.หลังจากที่มีการปราศรัยบนเวทีเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 2561 มาตรา 73 (1) เรื่องการจูงใจ สัญญาว่าจะให้ โดย ร.อ.ธรรมนัสปราศรัยว่า “ถ้าไม่มีตังค์ ถ้าไม่รวย จะไปช่วยได้ไง พร้อมทำท่าล้วงเงิน ว่ามีตังค์ช่วย เอาไหมพี่น้อง” จึงขอให้ กกต. ดำเนินการตรวจสอบว่าเนื้อหาของการปราศรัยหาเสียงดังกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัส  ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายการเลือกตั้งดังกล่าวหรือไม่  
 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (1) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการ (1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด หรือไม่ ตลอดจนมีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

ก้าวไกลจี้กกต.ฟัน “ธรรมนัส-พปชร.” หาเสียงเข้าข่ายสัญญาให้ผลประโยชน์

2. ตรวจสอบว่าคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีการกระทำอันอาจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 22 ที่กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ประกอบกับเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ก้าวไกลจี้กกต.ฟัน “ธรรมนัส-พปชร.” หาเสียงเข้าข่ายสัญญาให้ผลประโยชน์

 

เนื่องจากการปราศรัยหาเสียงในวัน เวลา ข้างต้น กระทำโดย ร.อ.ธรรมนัส และในเวทีปราศรัยหาเสียงข้างต้น ปรากฏกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐร่วมรับฟังการปราศรัยหาเสียงอยู่ด้วย จึงเป็นกรณีที่ปรากฏพฤติการณ์อันอาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ปรากฎต่อกรรมการบริหารพรรค ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคต้องมีมติหรือสั่งการให้สมาชิกยุติการกระทำนั้นโดยพลัน จึงขอให้ท่านดำเนินการตรวจสอบ สืบสวน ว่าคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 22 ข้างต้นหรือไม่

 

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เนื้อหาการปราศรัยนี้แสดงให้เห็นทัศนะทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน การรณรงค์ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครที่เป็นคนใหญ่คนโต เป็นคนร่ำรวยมีเงิน มากกว่าจะเลือกผู้สมัครที่เป็นคนธรรมดา ด้วยเหตุผลว่าคนที่มีเงิน มีอำนาจ มีอิทธิพล จะสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ดีมากกว่า กลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบผู้มีอิทธิพล ที่กีดกันคนธรรมดาออกจากพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง และมองว่าประชาชนคนธรรมดาเป็นกลุ่มคนที่ต้องคอยมีผู้มีอิทธิพลมาคอยดูแลตลอดเวลา กล่าวได้ว่านี่คือการเมืองที่ผู้มีอิทธิพลมองว่าตัวเองคือผู้ปกครองประชาชน

 

“สำหรับพรรคก้าวไกล เราเชื่อมั่นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของคนร่ำรวย ผู้ดีมีชาติตระกูล หรือผู้มีอิทธิพลเท่านั้น แต่การเมืองคือเรื่องของประชาชนทุกคน ดังนั้นเองคนธรรมดาสามัญก็สามารถเป็นผู้แทนประชาชนในสภาได้เช่นกัน เพราะหัวใจสำคัญของการเป็นผู้แทนราษฎรคือการเป็นผู้รับใช้ประชาชนและมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่า ไม่ทรยศประชาชน และพร้อมต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ยอมรับสิ่งที่ผิดบิดเบี้ยวในสังคม นี่คือความแตกต่างของทัศนะและจุดยืนทางการเมืองระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุ