ข่าว

"สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย" สร้างงาน สร้างรายได้ ชีวิตที่มั่นคง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด เป็นที่พึ่ง "สมาชิกสหกรณ์" สร้างงาน สร้างรายได้ มีชีวิตที่มั่นคง ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง เดิมเป็นพื้นที่ดำเนินงานส่วนหนึ่งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ต่อมาได้แยกพื้นที่ดำเนินงานออกมาตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง เมื่อปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย อยู่ห่างไกล และกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน้อย และอ.แม่สะเรียง พื้นที่ในส่วนของ อ.แม่สะเรียงจึงแยกศูนย์มาอยู่ที่บ้านอมพายหมู่ 11 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง 
จ.แม่ฮ่องสอน และจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด ขึ้นพร้อมพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

นายนิยม สุขทวีวุฒิพงศ์ ผู้จัดการสหกรณ์ฯ  เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่อมพาย จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 โดยเริ่มแรกเกษตรกรในพื้นที่จะเป็น"สมาชิกของสหกรณ์การเกษตร"โครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัดแต่เนื่องจากสมาชิกที่มีแปลงเพาะปลูกและที่อยู่อาศัยที่อมพายซึ่งห่างไกลจากที่ตั้งของสหกรณ์แม่สะเรียง จึงแยกมาจัดตั้ง"สหกรณ์การเกษตร"โครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด มีสมาชิกทั้งหมด  99 คน 

"สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย" สร้างงาน สร้างรายได้ ชีวิตที่มั่นคง

ตอนแรก ๆ ผลผลิตจะเยอะโครงการหลวงรับไม่หมดก็เลยให้สหกรณ์หาช่องทางการตลาดไปติดต่อสหกรณ์อื่น ๆ ส่วนหนึ่งส่งให้ รพ. ที่ อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย อ.สบเมย จนถึง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ปีที่แล้วมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ศูนย์กระจายสินค้าการเกษตรภาคเหนือหรือชุมนุมสหกรณ์เกษตรภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และได้ทำสัญญาซื้อขายผักกัน ตอนนี้ส่งให้ชุมนุมฯ  มีผัก 4 ชนิด คือเบบี้ฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง เบบี้ครอส และครอสสลัด โดยส่งทุกวันพุธ  นายนิยม สุขทวีวุฒิพงศ์ กล่าว

"สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย" สร้างงาน สร้างรายได้ ชีวิตที่มั่นคง

ด้านนายมะณี ศักดิ์ชัยปัญญา ประธานสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด เผยว่า เมื่อก่อนเกษตรกรจะปลูกกะหล่ำ มะเขือเทศ รายได้ไม่แน่นอน บางปีราคาถูกก็ขาดทุน  ต่อมาได้รับการสนับสนุนให้ปลูกแบบโรงเรือนปลอดสารเคมี ตอนแรกทำ 2 โรง ผลออกมาดี ไม่มีสารเคมี ร่างกายก็ดีกว่าเพราะไม่ต้องอยู่กับยาฆ่าแมลงมีตลาดรองรับผลผลิตปัจจุบันขยายโรงเรือนเป็น 9 โรง  

"สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย" สร้างงาน สร้างรายได้ ชีวิตที่มั่นคง

ตอนแรกไม่มีสักบาทไปเอาเงินที่สหกรณ์ ฯ มาก่อนเป็นทุนทำโรงเรือนโดยผ่อนจ่ายจากรายได้ของผัก ถ้าได้มา 100 บาท ก็ให้สหกรณ์หักไป 30 บาท จนกว่าจะหมด ทำมา 10 ปีแล้วความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้พอส่งลูกเรียน 4 คน จบปริญญาตรีก็นำแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำตามกำลังและรายได้ไม่ขยายมาก และไม่ต้องไปบุกป่า รายได้ก็พออยู่ได้ ส่งลูกเรียน ผ่อนรถผ่อนบ้าน และมีเงินออม นับตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ชีวิตดีขึ้นมากถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็คงไม่ได้มาทำโรงเรือนนี้

"สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย" สร้างงาน สร้างรายได้ ชีวิตที่มั่นคง

"สมาชิกสหกรณ์"ทุกคนดีขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ดีเมื่อก่อนพ่อแม่ทำไร่เลื่อนลอย ถางป่าไปเรื่อยๆ 7 ปีก็วนกลับมาที่เดิม ความเป็นอยู่ไม่ดีข้าวไม่พอกิน แต่ตอนนี้มีเงินสามารถส่งลูกเรียนสูง ๆ ได้ ขอขอบคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ที่มาให้อาชีพดี ๆ กับพวกเราและดีใจที่รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานทำให้โครงการนี้ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง  นายมะณี  ศักดิ์ชัยปัญญา กล่าว

 

ส่วนนายเอกบดี จันภักษานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เผยว่า  จากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดโครงการประกวดสหกรณ์โครงการหลวงดีเด่นประจำปี 2564  โดยสหกรณ์พื้นที่โครงการหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งเข้าประกวดอยู่ 2 แห่งคือสหกรณ์โครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัดและสหกรณ์โครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด โดยสหกรณ์โครงการหลวงบ้านอมพายได้รับรางวัลที่ 2 เป็นสหกรณ์ ฯ  ที่มีการพัฒนาและสร้างแนวทางในการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกและชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม

 

โดยมีคณะกรรมการและสมาชิกที่มีความร่วมมือ ร่วมใจกัน คณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถ เป็นตัวหลักในการผลักดันให้สมาชิกทั้งหลายเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา มีส่วนร่วมมีแรงจูงใจเข้ามาร่วมกันในการส่งเสริมสนับ
สนุนการประกอบอาชีพของตนเองให้ได้ผลดี  สามารถสร้างความเชื่อมั่นทำให้สหกรณ์ มีการพัฒนา และก็เจริญเติบโตไปได้อย่างดี แล้วก็สามารถสร้างให้เกิดผลประโยชน์แก่แก่สหกรณ์  สมาชิกและชุมชนได้ต่อไป

 

ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้พัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ให้เป็นองค์กรของชุมชนเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตและการตลาดและเงินทุนต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงได้นำไปดำเนินธุรกิจและรับซื้อผลผลิตการเกษตรของสมาชิก ซึ่งในแต่ละปีจะมีการจัดประกวดสหกรณ์
และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวงขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงและสมาชิก

 

รวมถึง จนท.ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของ"สมาชิกสหกรณ์"ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความเพียร รอบคอบ อดทน ปฏิบัติตนโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียงสืบไป

logoline