
"อธิบดีปศุสัตว์" ยันไม่เห็นหนังสือพบเชื้อASFในหมู ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง
"อธิบดีปศุสัตว์" ยืนยันยังไม่เห็นหนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ฯ ตรวจพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู แต่จะเร่งตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง พร้อมส่งชุดเฉพาะกิจปูพรมราชบุรี นครปฐม หาสาเหตุของโรคระบาด
9 ม.ค.65 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์กรณี ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 แจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว นั้น
ดังนั้น จากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กรมปศุสัตว์จึงได้มีการกำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF
กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๘ พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก ทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรภายในประเทศ และการเคลื่อนย้ายสุกรระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด
อธิบดีกรมปศุสัตว์ มีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกท่าน การลดความสูญเสียจากการระบาดของโรคในระยะยาว มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจ ดำเนินการค้นหาและสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการระบาดของโรคสุกร
ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ สรุปผลการดำเนินงานชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างที่ฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม
8 มกราคม 2565 ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เข้าตรวจสอบฟาร์ม 6 ฟาร์ม เก็บตัวอย่าง 196 ตัวอย่าง
9 มกราคม 2565ลงพื้นที่ จังหวัดนครปฐม เข้าตรวจสอบฟาร์ม 4 ฟาร์ม เก็บตัวอย่าง 109 ตัวอย่าง เข้าตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง เก็บตัวอย่าง 5 ตัวอย่าง
สรุปรวม 2 จังหวัด เข้าไปตรวจสอบฟาร์ม 10 ฟาร์ม จำนวน 305 ตัวอย่าง เข้าไปตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง จำนวนตัวอย่าง 5 ตัวอย่าง ซึ่งจะนำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง