
ด่วน เปิดเอกสารสำคัญ ตรวจพบหมูเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาปีที่แล้ว ลุกลามหมูแพง
ด่วน เปิดเอกสารสำคัญ ภาคีคณบดีคณะสัตว์แพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ รายงาน การตรวจพบ หมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรค ASF ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ปีที่แล้ว ขอให้ดำเนินการควบคุมอย่างเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 9 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าว"คมชัดลึก" รายงานว่า ภายหลังจากหน่วยงานภาครัฐ ออกมายืนยัน ยังไม่พบการระบาด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ โรค ASF ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ตอนนี้มีการแพร่ระบาดอยู่รอบนอกประเทศไทยเท่านั้น
แม้แต่ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.65 ที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในประเทศไทย แต่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่เร่งตรวจสอบเพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคระบาดในสุกร แก้ปัญหาราคาหมูแพง
อย่างไรก็ตาม "คมชัดลึก" ได้ตรวจสอบพบเอกสารสำคัญ จากภาคีคณบดีคณะสัตว์แพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 โดยระบุถึงการตรวจพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ โรค ASF และขอให้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขสถานการณ์นี้เป็นการด่วน
ภาคีคณะบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 มีเนื้อหาดังนี้
ตามที่ปรากฏการตายเป็นจำนวนมากของสุกรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยมาระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมากจากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข
ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศประเทศไทย พบเชื้อไวร้สอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้วนั้น
ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและ อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย
และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อและภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย