ข่าว

มั่นใจมาก หมูไทยปลอด"โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" การันตีหนึ่งเดียวในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลระดมแจงหมูไทยปลอดโรค ขึ้นแบนเนอร์ไทยคู่ฟ้า การันตี หมูไทยปลอดโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สุดยอดหนึ่งเดียวในอาเซียน

 

รัฐบาลยังคงเดินหน้าชี้แจงเรียกความมั่นใจแนวทางแก้ไขสถานการณ์ราคาหมูแพง ท่ามกลางข้อสงสัยถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู  เป็นที่สังเกตว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.65 ที่ผ่านมา หลังจาก นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในประเทศไทย แต่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่เร่งตรวจสอบเพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคระบาดในสุกร แก้ปัญหาราคาหมูแพง

 

คมชัดลึก รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64   เพจไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นเพจประชาสัมพันธ์ภารกิจของรัฐบาล ของสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้น แบนเนอร์ข่าว ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับทราบว่า หมูไทยปลอดโรค และเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน ที่ไม่ได้รับการแพร่ระบาดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ โรค ASF 

 

มั่นใจมาก หมูไทยปลอด"โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร"  การันตีหนึ่งเดียวในอาเซียน
 


โดยมีข้อความดังนี้   ไทยคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หนึ่งเดียวในอาเซียน!

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงความสำเร็จในการจัดการโรคระบาดในสัตว์ของไทยที่สามารถควบคุมและป้องกันการเกิดโรคได้สำเร็จ ด้วยมาตรการการป้องกันอย่างเคร่งครัดและความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งโรคกาฬโรคแอฟริกาม้า (AHS) และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ยังคงสถานะปลอดโรค ASF ไว้ได้

 

สำหรับโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ขณะนี้สามารถจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดและลดความเสียหายจากโรคได้แล้ว โดยไทยได้เร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF ในสุกรต้นแบบ และโรคลัมปี สกิน เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

 

จากนั้น ยังได้นำเสนอมาตรการรัฐบาลในการแก้ปัญหาหมูแพง 

 

มั่นใจมาก หมูไทยปลอด"โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร"  การันตีหนึ่งเดียวในอาเซียน

 

โดยระบุว่า  ก.พาณิชย์ - ก.เกษตรฯ ร่วมออกมาตรการแก้ปัญหาหมูแพง "เร่งด่วน - ระยะสั้น - ระยะยาว" เชื่อมั่นราคาเนื้อหมูกลับสู่ภาวะปกติได้ ได้ข้อสรุปดังนี้

 

มาตรการเร่งด่วน


- ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน (6 ม.ค. 65 - 5 เม.ย. 65)
- ช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น งดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม หรือภาษีการจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เป็นต้น
- เพิ่มกำลังการผลิตแม่หมูทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้หมูขุนตัวเมียมาทำพันธุ์ชั่วคราว
- เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ให้กระจายพันธุ์ลูกหมูขุนแก่เกษตรกรรายย่อยและเล็ก ที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่

 

มาตรการระยะสั้น


- ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
- ขยายกำลังผลิตแม่หมู
- สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์, เครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน
- เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

 

มาตรการระยะยาว
- ยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
- ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP
- สนับสนุนการเลี้ยงโดยมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ผ่านโครงการสานฝันสร้างอาชีพ

โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการทั้ง 3 ระยะที่ได้จากข้อสรุปดังกล่าว จะสามารถทำให้ราคาเนื้อหมูกลับสู่ภาวะปกติได้

 

ขณะที่นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงผ่านรายการ ไทยคู่ฟ้าPOADCAST  เปิดเผยว่า  สาเหตุที่ทำให้ราคาหมูปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุหลักปริมาณหมูป้อนเข้าตลาดในประเทศน้อยกว่าความต้องการ บวกกับต้นทุนการเลี้ยงหมูบางส่วนมีราคาสูงขึ้น รวมกันแล้วทำให้หมูราคาทะยานสูงขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเร่งแก้ไขปัญหา โดยตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมทำงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาตรการเร่งด่วน  เช่น กระทรวงพาณิขย์ ห้ามส่งออกหมูเป็นออกนอกประเทศ 

 

นส.รัชดา กล่าวว่า ตัวเลขปี 64 เกษตรกรเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด 19 ล้านตัวบริโภคภายในประเทศ 18 ล้านตัว  อีกหนึ่งล้านตัวเป็นการส่งออก  เมื่อออกมาตรการส่งออกหมูเป็นออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะส่งผลให้มีป้อนเข้าสู่ตลาดในประเทศมากขึ้น

 
นอกจากนี้ ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่าประเทศอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้าเยอะอยู่ โดยจะงดเว้นการเก็บภาษี และเร่งเจรจาฟาร์มรายใหญ่ช่วยกระจายพันธุ์หมูขุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย  ต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายย่อย 20-30 เปอร์เซนต์ ถอดใจไป กระทรวงเกษตรฯจะช่วยเงินทุน การกระจายพันธุ์  รวมถึงยาเวชภัณฑ์

 

"มาตรการระยะยาว ต้องสร้างความมั่นใจมีจำนวนหมูมากบริโภคในประเทศ และส่งออกนอกประเทศ  สองปีที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านติดโรคASF  ในขณะที่ประเทศไทยปลอดโรคASF  ทำให้มีความต้องการสุกรไทยเยอะ  ในระยะยาวส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยยกระดับฟาร์มป้องกันโรค ระบบนี้ไม่มีค่าใช้สูงมากนัก รัฐบาลเดินหน้าให้ความรู้ ช่วยเหลือเทคโนโลยี ให้ปศุสัตว์เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายย่อย สร้างฟาร์มมที่มีความเข้มแข็ง" รองโฆษกรัฐบาล กล่าว  

 

 

 

 

logoline