ข่าว

กรมปศุสัตว์ยันไม่มีโรคระบาดในหมู ส่งหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่เร่งตรวจสอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในประเทศไทย แต่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่เร่งตรวจสอบเพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคระบาดในสุกร แก้ปัญหาราคาหมูแพง

หลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา ราคาหมูยังแพงต่อเนื่อง ล่าสุดราคาเนื้อหมูวันนี้ (8 ม.ค.) อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ kasetprice.com แจ้งว่าชิ้นส่วนเนื้อหมูมีราคาดังนี้ ขาหมู 115 บาทต่อกิโลกรัม /  ซี่โครงหมู 215 บาทต่อกิโลกรัม / ตับหมู 140 บาทต่อกิโลกรัม / เนื้อแดง 190 บาทต่อกิโลกรัม / สันนอก 205 บาทต่อกิโลกรัม / ไส้ตันหมู 180 บาทต่อกิโลกรัม และหมูบด 150 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจากราคาหมูที่ปรับสูงขึ้น กลายเป็นประเด็น "หมูแพง" ส่งผลทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งกับเกษตรกรและโรคระบาดที่เกิดขึ้นในสุกรที่เลี้ยงในฟาร์มของเกษตรกร 

จากปัญหา "หมูแพง" ดังกล่าว นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่มีการระบุว่าราคาหมูที่ปรับสูงขึ้นเกิดจาก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งเป็นโรคระบาดในสุกรและเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ว่า โรค ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ใน 35 ประเทศทั่วโลก หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้ว จะกำจัดโรคได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยารักษาโรค

 

นอกจากนี้เชื้อไวรัสที่ก่อโรค ยังมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ในปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ

ดังนั้น จากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของ โรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกัน โรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อ โรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกร ซึ่งอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก ทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรภายในประเทศ และการเคลื่อนย้ายสุกรระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำว่ามีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกท่าน การลดความสูญเสียจากการระบาดของโรคในระยะยาว มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจ ดำเนินการค้นหาและสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการระบาดของโรคสุกร และขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความสำคัญในการดูแลสุกรของตนอย่างใกล้ชิดให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และให้ความสำคัญในเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม มีคอกคัดสัตว์เพื่อขายแยกจากฟาร์มเพื่อป้องกันพ่อค้าที่รับซื้อสุกรอาจนำเชื้อมาสู่ฟาร์ม 

 

โดยเฉพาะการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม และโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือฟาร์มใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ห้ามนำสัตว์ป่วยตายไปจำหน่าย และรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือ และตรวจสอบโดยเร็ว และลดความเสียหายจากโรคระบาด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ