ข่าว

TRSI วิจัย Bioinformatics และใบข้าว หวังพัฒนาศักยภาพ "พันธุ์ข้าวไทย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

TRSI วิจัย Bioinformatics และใบข้าว หวังพัฒนาศักยภาพ "พันธุ์ข้าวไทย" พัฒนาระบบการจัดเก็บ การจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพัฒนาระบบการวิเคราะห์และการเชื่อมโยงข้อมูลทางชีววิทยาของข้าว

สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ได้ดำเนินงานวิจัยทางด้านชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ซึ่งเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ร่วมกับศาสตร์ทางคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บ การจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพัฒนาระบบการวิเคราะห์และการเชื่อมโยงข้อมูลทางชีววิทยาของข้าว

 

ดร.ปิยรัตน์ พลยะเรศ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บและแสดงผลข้อมูลการวิจัยในด้านต่าง ๆ ของข้าวไทย และมีการพัฒนาระบบเพื่อวิเคราะห์ค้นหาเครื่องหมายดีเอ็นเอที่จำเพาะกับยีนที่สัมพันธ์กับลักษณะปรากฏต่าง ๆ ของข้าวที่สำคัญทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ นำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพัฒนาส่วนการแสดงผลและสืบค้นข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้นักวิจัยและผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานได้อย่างสะดวก และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อใช้การปรับปรุง"พันธุ์ข้าว"ต่อไป

TRSI วิจัย Bioinformatics และใบข้าว หวังพัฒนาศักยภาพ "พันธุ์ข้าวไทย"

นอกจากการวิจัยด้านชีวสารสนเทศแล้ว สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติได้ร่วมกับกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับข้าวตลาดเฉพาะ โดยใช้เทคโนโลยีรหัสคิวอาร์ร่วมกับแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตามกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่การปลูก การแปรรูปจนถึงการวางจำหน่าย เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบย้อนกลับติดตามสินค้าข้าวตลาดเฉพาะ ให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าข้าว และยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวของไทยตามมาตรฐานการส่งออกสินค้าเกษตรของหลายประเทศ

TRSI วิจัย Bioinformatics และใบข้าว หวังพัฒนาศักยภาพ "พันธุ์ข้าวไทย"

นอกจากนี้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ มีการดำเนินการวิจัยเพื่อค้นหาลักษณะทางสัณฐานวิทยา และสรีรวิทยาของใบข้าว แบบที่จะสามารถสังเคราะห์แสงได้ดีที่สุดมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี มาแล้ว มีใบข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 พันธุ์/สายพันธุ์ ที่ผ่านการศึกษาวิจัยในโครงการวิจัย

ดร.สุพัตรา นราวัฒนะ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า ใบของพืช รวมทั้งใบข้าวจัดเป็นอวัยวะที่สำคัญ ทำหน้าที่ในการปรุงอาหารของพืช ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การสังเคราะห์แสง หรือ “Photosynthesis” ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องมีการรับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์โดยอาศัยคลอโรพลาสต์ (Chloroplast) ที่บรรจุอยู่ภายในใบข้าว ภายในคลอโรพลาสต์มีรงควัตถุสีเขียวซึ่งทำหน้าที่รับพลังงานแสง ที่เรียกว่า “คลอโรฟิลล์”(Chlorophyll)

 

และต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านทางปากใบข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตของการสังเคราะห์แสง ได้แก่ น้ำตาลซูโครส ด้วยเหตุนี้ ปริมาณคลอโรฟิลล์ การทำหน้าที่ของปากใบในการแลกเปลี่ยนก๊าซ และส่วนประกอบอื่นๆ ในใบข้าวที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสง จึงจัดเป็นสิ่งสำคัญต่อประสิทธิภาพ และปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ข้าวจะปรุงขึ้นได้ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง

 

เราพบว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาของใบข้าว ไม่ว่าจะเป็นความกว้าง ความยาวและความหนาของใบต่างมีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสงของใบข้าว ใบข้าวยิ่งมีความหนา(ไม่น้อยกว่า60 ไมโครเมตร)ยิ่งสามารถบรรจุคลอโรฟิลล์ได้มาก และย่อมหมายถึงการมีเอนไซม์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปเป็นน้ำตาลนั้นยิ่งมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ผลการวิจัยเพื่อค้นหาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของใบข้าวที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพผลผลิตของข้าวให้สูงขึ้นนี้ ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลทางพันธุกรรมของข้าวด้วยวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ ได้แก่ เทคนิค Genome-Wide Association Studies (GWAS) เป็นต้น เพื่อค้นหายีน หรือตำแหน่งบนโครโมโซมข้าวที่ควบคุมลักษณะทางสัณฐานวิทยาของใบข้าวศักยภาพผลผลิตสูง จนนำไปสู่การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกข้าวด้วยวิธี Marker Assisted Selection ต่อไป ดร.สุพัตรา นราวัฒนะ กล่าวปิดท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ