ข่าว

ชัดเจน "ตรีนุช" ไม่ยุบรร.ขนาดเล็ก ย้ำครูหัวใจพัฒนาการศึกษาเด็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศธ.รับลูกนายกฯ ดูแลเด็กหลุดจากระบบให้กลับเข้าเรียน "ตรีนุช" ย้ำไม่มีแนวคิดควบรวมยุบรร.ขนาดเล็ก ฝากถึง “ครู” คือหัวใจพัฒนาการศึกษาเด็ก เมื่อครูเปลี่ยนรับยุคดิจิทัจ การศึกษาจะเปลี่นแปลง

อีกครั้งที่ เสมา1  "ตรีนุช เทียนทอง" โชว์วิสัยทัศน์ด้านการศึกษาเอาไว้อย่างน่าคิด ครูเปลี่ยน การศึกษาก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

 

วันที่ 6 มกราคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  หรือบอร์ดกพฐ. ว่า การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน เด็กสามารถศึกษาหาความรู้รอบตัวได้เองผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการพัฒนาครูคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการศึกษาของเด็ก 

 

โดยเปลี่ยนแนวความคิดจากที่ครูเป็นผู้มอบองค์ความรู้ให้กับเด็กฝ่ายเดียว เปลี่ยนมาเป็นการแนะแนวให้เด็กได้ตระหนักรู้หรือสามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาวิเคราะห์ นำมาปรับประยุกต์ใช้ได้ เพราะตอนนี้องค์ความรู้มีอยู่รอบตัวเราไม่มีที่สิ้นสุด 

 

ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาครูให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิผลได้ในระยะยาว และการพัฒนาครูมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งตอนนี้การพัฒนาหลักสูตรก็กำลังดำเนินการควบคู่กันไปและต้องใช้เวลา

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า แต่การพัฒนาครูเป็นส่วนที่สามารถทำได้เลย ในวันนี้โจทย์ของเราคือการทำอย่างไรให้คุณครูเข้าใจพฤติกรรมใหม่ ๆ ของเด็ก แล้วทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสมรรถนะ ทำให้เด็กเข้าใจองค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์มากกว่าได้รับความรู้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับวิถีการดำรงชีวิตต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้ได้

 

รมว.ศธ. กล่าวว่าเรื่องแพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้ก็สำคัญ เพราะสามารถจะเป็นทางลัดในการเรียนรู้ได้ เนื่องด้วยความหลากหลายของสภาพพื้นที่แต่ละโรงเรียน ที่แตกต่างกันไปตามบริบท โลกดิจิทัจจะเป็นกุญแจที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดหรือเด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น

 

“เราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ที่จะรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ นำมาจัดหมวดหมู่ หรือเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้ดี ๆ มีประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงคุณครูหากเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนเด็กนักเรียนได้”นางสาวตรีนุช กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องของการควบรวมโรงเรียน จะต้องทำให้เกิดเป็นโรงเรียนแม่ข่ายที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาครูไม่ครบชั้นหรือสื่อการเรียนรู้ที่ขาดแคลน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กน้อยกว่า 120 คนทั้งหมด 

 

ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลหรือในถิ่นทุรกันดารเราต้องยังคงไว้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่การเดินทางสะดวก เด็กสามารถมาเรียนที่โรงเรียนแม่ข่ายได้ ก็จะให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนแม่ข่ายและเรียนร่วมกัน 

 

โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาฯ กำลังดำเนินการอยู่ในส่วนของโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งต้องหาแนวทางร่วมกันอีกหลาย ๆ แนวทางเพื่อให้โรงเรียนต่าง ๆ เหล่านี้เกิดการสร้างเครือข่ายร่วมกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า ปัญหาเด็กตกหลุดจากระบบการศึกษา นั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ ศธ.ดูแลช่วยเหลือมาโดยตลอด ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการสำรวจตรวจว่ามีเด็กที่ตกหล่นจากระบบจำนวนเท่าไร และได้ปักหมุดเด็กเอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาในการนำเด็กเข้าสู่ระบบ ในส่วนของการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ อาจยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ แต่เป้าหมายหลักของเราคือการนำให้เด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด

 

“อีกเรื่องดิฉันได้เน้นย้ำคือเรื่องความปลอดภัยของเด็กและครูในสถานศึกษา ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งศูนย์ MOE Safety Center ขึ้นมา เพื่อช่วยให้กระทรวงฯ สามารถดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาได้อย่างรอบด้าน ซึ่งหากมีเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็วทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน” นางสาวตรีนุช กล่าวในที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ