ข่าว

"รถไฟฟ้าสายสีม่วง" แจงทุบตึกสมัยรัตนโกสินทร์ทำทางขึ้น–ลงสถานีผ่านฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รฟม.แจงทุบตึกเก่าสมัยรัตนโกสินทร์ ทำทางขึ้นลง "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ยันออกแบบให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมเก่า ลดผลกระทบผู้อยู่อาศัย

ตามที่ นางสาว รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก Rosana Tositrakul กรณีอาคารเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะถูกใช้เป็นทางขึ้น - ลง สถานีผ่านฟ้า โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้น 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ดังนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 7 สาย ระยะทางรวม 154 กิโลเมตร ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ในความรับผิดชอบของ รฟม.

โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมประมาณ 23.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะทางใต้ดินประมาณ 13.6 กิโลเมตร และระยะทางยกระดับประมาณ 10 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี สำหรับสถานีที่ปรากฏบนโพสต์ในเฟซบุ๊ก คือ สถานีผ่านฟ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นสถานีใต้ดิน ตั้งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ ใกล้กับแยกผ่านฟ้า

โดยในการออกแบบได้กำหนดให้มีทางขึ้น - ลง จำนวน 4 ตำแหน่ง ได้แก่


1.ทางขึ้น – ลง หมายเลข 1 อยู่บริเวณตึกแถว 2 ชั้น ใกล้กับกลุ่มงานตกแต่ง สำนักงานก่อสร้าง และบูรณะ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
2.ทางขึ้น – ลง หมายเลข 2 บริเวณที่จอดรถหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง
3. ทางขึ้น - ลง หมายเลข 3 บริเวณอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ติดกับอาคารเทเวศร์ประกันภัย และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี
4.ทางขึ้น – ลง หมายเลข 4 บริเวณหน้าบ้านพักอาศัย บริเวณถนนพระสุเมรุ

 

ทั้งนี้ ในโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม. นั้น มีมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างในเชิงอนุรักษ์ และคำนึงถึงรูปแบบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น สถานีสามยอด ได้ออกแบบตามลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารเดิมสมัยรัชกาลที่ 5 โดยลอกแบบ  มาจาก “ร้าน เซ่ง ชง” ของหลวงประดิษฐ์บาทุกา ซึ่งมีความสมบูรณ์ของลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิมมาใช้เป็นรูปแบบสถานี สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของพื้นที่ และสถานีวัดมังกร ได้มีการออกแบบให้มี ความผสมผสานสถาปัตยกรรมจีนและสถาปัตยกรรมยุโรปหรือเรียกว่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส ตามบริบทของย่านเยาวราช   อย่างลงตัวเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน และการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของอาคารทางขึ้น – ลง ของ รฟม. ได้พิจารณาให้มีขนาดเล็กที่สุดที่สามารถให้บริการประชาชนได้ โดยให้มีผลกระทบต่อประชาชนและมีการเวนคืนให้น้อยที่สุด 

 

"รถไฟฟ้าสายสีม่วง" แจงทุบตึกสมัยรัตนโกสินทร์ทำทางขึ้น–ลงสถานีผ่านฟ้า

นอกจากนี้ ในการกำหนดทางขึ้น – ลง สถานีที่มีจำนวน 4 ตำแหน่งนั้น เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน หากต้องอพยพผู้โดยสารจากภายในสถานี ซึ่งอ้างอิงตามมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย (NFPA 130) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงขอยืนยันว่า รฟม. ได้ดำเนินการออกแบบทางขึ้น – ลง สถานี ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงความกลมกลืนและสอดคล้องตามบริบทของเมืองเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน รวมทั้งให้มีผลกระทบต่อประชาชนและมีการเวนคืนให้น้อยที่สุด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ