ข่าว

หมอจุฬาฯแนะตรวจคัดกรอง "ระดับการได้ยิน" เด็กก่อนวัยเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์การอนามัยโลก ห่วงประชากร1ใน5ของโลก มีปัญหา ด้านการได้ยิน และมีแนวโน้มที่จะเป็นสูงขึ้นถึง 1ใน 4 หมอจุฬาฯ แนะตรวจคัดกรอง "ระดับการได้ยิน" เด็กก่อนวัยเรียน เชื่อเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้

องค์การอนามัยโลก ห่วงประชากรโลกมีปัญหา หูไม่ได้ยิน (หูหนวก หรือหูพิการ) เพิ่มมากขึ้น ทางออกที่ดีควรเริ่มตรวจคัดกรอง “ระดับการได้ยิน” ให้เด็กก่อนวัยเรียนเพื่อเป็นการป้องกันก่อนจะสาย

 

ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์เฉพาะทาง หน่วยโสตประสาทวิทยา ฝ่ายโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า นอกจากในวัยผู้สูงอายุมีปัญหาหูไม่ได้ยินแล้ว องค์การอนามัยโลกก็ให้ความสำคัญกับกลุ่ม เด็กก่อนวัยเรียน ไม่แพ้กัน ชี้ชัดเป็นครั้งแรกว่า เด็กก่อนเข้าโรงเรียนควรตรวจคัดกรองระดับการได้ยินทุกคน 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาการทางด้านภาษาและสติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนั้น ยังแนะว่าโรงเรียนและแพทย์ควรให้ความรู้กับเด็ก ๆ และครอบครัวในการดูแลสุขภาพหูโดยร่วมมือกับทางโรงเรียนในพื้นที่อีกด้วย

ดร.พญ.นัตวรรณ ระบุอีกว่า กว่า 60% ของปัญหาการได้ยินโดยเฉพาะในเด็กเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การรักษาภาวะติดเชื้อในหู การรับเสียงดังเกินควร การได้รับยาบางชนิดที่เป็นพิษต่อหู ปัญหาการติดเชื้อ หูน้ำหนวก ปัญหาขี้หูอุดตัน ปัญหาสิ่งแปลกปลอมในช่องหู และความผิดปกติผิดรูปอื่น ๆ ของช่องหู เป็นต้น

 

"ปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเรื้อรังในช่องหูนั้นเป็นปัจจัยที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจหาปัญหาและตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันปัญหาด้านการได้ยินที่อาจเกิดอย่างถาวรได้จากการติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที” ดร.พญ.นัตวรรณ กล่าว

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปัจจุบัน มีจำนวนประชากร1ใน5ของโลก ที่มีปัญหาด้าน การได้ยิน และมีแนวโน้มที่จะเป็นสูงขึ้นถึง1ใน4

 

ทั้งนี้ เด็กก่อนวัยเรียน ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หมายถึง เด็กเล็ก หรือเด็กปฐมวัยที่มีอายุน้อยกว่า7 ปี อยู่ในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน แต่สภาพปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครอง นิยมส่งลูกเตรียมความพร้อมด้านการเรียนตั้งแต่เด็กวัย 2-3 ขวบ ในระดับอนุบาล หรือระดับปฐมวัย ที่เน้นการ กิน เล่น เต้น วาด มากกว่าด้านวิชาการ เป็นการปรับตัวก่อนเข้าสู่วันเรียนที่เริ่มเมื่ออายุ 7 ปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ