ข่าว

เปิดมิติใหม่การผลิต "ข้าวไทย" ต้นทุน 3,000 ต่อไร่ตอบโจทย์สร้างอนาคต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมการข้าว เปิดมิติใหม่การผลิต "ข้าวไทย" ต้นทุน 3,000 ต่อไร่ตอบโจทย์สร้างอนาคต เร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัล

อาจกล่าวได้ว่าระบบการผลิตข้าว พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในวันนี้ ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การพลิกโฉมครั้งสำคัญ ภายใต้บทบาทของ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดนโยบายการพัฒนาให้มีการนำ เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัล เข้ามาเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่จะช่วยทั้งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตในอาชีพการทำนาของเกษตรกรทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการพัฒนาสู่เกษตร 4.0

 

กรมการข้าว ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลด้าน "การผลิตข้าว" รวมเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต้นแบบ ได้นำไปปรับใช้จนเกิดความสำเร็จ สามารถสร้างมิติใหม่ของระบบ "การผลิตข้าว" ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

เปิดมิติใหม่การผลิต "ข้าวไทย" ต้นทุน 3,000 ต่อไร่ตอบโจทย์สร้างอนาคต

                                                                   ชิษณุชา บุดดาบุญ

นายชิษณุชา บุดดาบุญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กรมการข้าว ตอบคำถามถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของกรมการข้าว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัล คือ พื้นฐานสำคัญของระบบ "การผลิตข้าว" ทั้งในวันนี้และในอนาคต  เพราะเกี่ยวพันกับการจัดการข้อมูล ตั้งแต่ระดับแปลงของเกษตรกร ไปจนถึงระดับประเทศ 

เปิดมิติใหม่การผลิต "ข้าวไทย" ต้นทุน 3,000 ต่อไร่ตอบโจทย์สร้างอนาคต

เพราะกรมการข้าวได้ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลทุกอย่างที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้ในรูปแบบดิจิทัล อาทิ ข้อมูล พื้นที่ปลูก ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับดินในทุกนิเวศน์ สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณฝน เมล็ดพันธุ์ วิธีการปลูก การดูแลรักษา การจัดการน้ำ การจัดการปุ๋ย วัชพืช หรือโรคแมลงที่เกี่ยวข้อง จนถึงการเก็บเกี่ยว เป็นต้น ทุกข้อมูลที่กรมการข้าวได้ทำในรูปแบบดิจิทัล คือฐานข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ การตัดสินใจ ในระบบเกษตรอัจฉริยะต่อไป 

เปิดมิติใหม่การผลิต "ข้าวไทย" ต้นทุน 3,000 ต่อไร่ตอบโจทย์สร้างอนาคต

นายชิษณุชา กล่าวต่อว่า ตลอดช่วง 5 ที่ผ่านมาจากที่กรมการข้าวได้ดำเนินการ ปรากฏว่ามีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ และเข้าร่วมกับการศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยของกรมการข้าว เกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ว่า เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลที่กรมการข้าวได้ดำเนินการนั้น สามารถตอบโจทย์การพัฒนาได้ตรงตามที่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรต้องการ โดยเฉพาะในด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าว

ในวันนี้เป็นคำถามสำคัญที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจว่า สถานการณ์ปัจจุบัน จะลดต้นทุน "การผลิตข้าว" ได้อย่างไร ซึ่งวันนี้มีคำตอบแล้วจากการทุ่มเททำงานของกรมการข้าวว่า เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยต่อไร่ใน "การผลิตข้าว" จากเดิมที่มีต้นทุนประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อไร่ ลดลงมาเหลือเพียง 3,000 กว่าบาทต่อไร่ นี่คือตัวเลขที่กรมการข้าวได้มาจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยต้นทุนที่ลดลง คือ ลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการปุ๋ย การจัดการน้ำด้วยการปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ และการทำนาระบบเปียกสลับแห้ง การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

 

ขณะเดียวกันยังทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ขัด เมื่อนำมาคิดคำนวณเป็นต้นทุนเฉลี่ยต่อตันข้าวแล้วจะเห็นได้ชัดว่าเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วย มีต้นทุนการผลิตลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มมากขึ้น   ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กล่าว

 

นายชิษณุชา กล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า จากที่เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลด้านการผลิตข้าวที่กรมการข้าวดำเนินการ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตข้าวของประเทศไทยในการใช้ข้อมูล ใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นำมาสู่การสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้น 

 

ขณะเดียวกันกรมการข้าว ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น ผ่านแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ข้าว โครงการศูนย์ข้าวชุมชน โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นต้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมการข้าวกำลังนำเสนอเพื่อขออนุมัติโครงการขยายผลเช่นภายใต้โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแปลงเกษตรอัจฉริยะ พร้อมกับมีแผนการพัฒนาข้อมูลข้าวอัจฉริยะเพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น 

 

เนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีที่ต้องใช้ข้อมูล ใช้องค์ความรู้ ใช้การวิเคราะห์ รวมถึงเครื่องมือที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังนั้นในการเข้าถึงประโยชน์ได้ของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรนั้น กรมการข้าวจึงมุ่งเน้นดำเนินการผ่านโครงการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ข้าวเป็นหลัก โดยได้มีการเตรียมแนวทางและข้อมูลจำเป็นต่างๆ ไว้อย่างพร้อมเพียงครบถ้วนทุกด้าน พร้อมส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในโครงการได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อนำไปใช้ตัดสินใจในการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาด นายชิษณุชา กล่าวทิ้งท้าย

 

บนก้าวการพัฒนาประเทศ ภายใต้บทบาทการดำเนินงานของกรมการข้าว ในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการตอบโจทย์ เพื่อสร้างอนาคต จากการเร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลด้านการผลิตข้าว ที่จะนำไปสู่การสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับชาวนาไทยทั่วประเทศอย่างยั่งยืน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ