กระทรวงมหาดไทย ปักหมุดหมายเดินหน้า “แก้จน” ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ฯลฯ มาเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มหาดไทย) เข้าร่วมการประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) เป็นประธานการประชุมฯร่วมกับสำนักงบประมาณ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายยุทธนา สาโยชนกร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายชุมพล เด็จดวง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณ เป็นเรื่องสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริงให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล
โดยได้ให้แนวทางการจ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ดังนี้
1. ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
2.ด้านความปลอดภัยทางถนน 3.การจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดการสาธารณะ ลดความเหลี่ยมล้ำมุ่งแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งบูรณาการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
4. การบริหารจัดการน้ำเสีย และการเสริมสร้างการรับรู้สู่ชุมชน
สำหรับแนวทางการจัดทำงบประมาณในภาพรวมของกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1. ยุทธศาสตร์ชาติ
2. แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
3. แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง
4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5. นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
6. แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง
7. เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
8. นโยบายสำคัญของรัฐบาล และ
9. โมเดลเศรษฐกิจ ECG
โดยมุ่งเน้นโครงการสำคัญประจำปี 2566 ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 406 โครงการ และวาระการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญ 13 หมุดหมาย ตาม (ร่าง) แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ คำนึงถึงความจำเป็น/ภารกิจ/ความต้องการในพื้นที่ และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง