ข่าว

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564 ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

10เหตุการณ์เด่นการเมืองในรอบปี "คมชัดลึก" รวบรวมนำมาเสนอ สะท้อนความเป็นไปของการเคลื่อนไหวผู้มีอำนาจรัฐ การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัตติ และมวลชนนอกสภา ขับเคลื่อนสร้างแรงกระเพื่อมอย่างไรบ้าง เป็นไปดังนี้

 

รอบปี 2564  สถานการณ์ทางการเมืองไทย ยังเป็นไปในลักษณะพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาล พยายามออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาล และยังอยู่กับเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดบทบัญญัติที่จะเอื้อให้เป็นการสืบทอดอำนาจ 

 

จากเสียงเรียกร้อง การชิงไหวชิงพริบของนักการเมืองในสภา ก็ยังมีความพยายามปลุกปั่นด้วยชุดข้อมูลของตนโน้มน้าวให้ประชาชนหลงเชื่อ ทั้งจริงบ้างเท็จบ้าง นำไปสู่การปลุกปั่นกลุ่มมวลชนต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนพร้อมกับก่อความรุนแรงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการพร้อมกับได้รับผลกระทบต่อชีวิตและร่างกาย 

 

เช่นเดียวกับ องค์กรอิสระ อย่าง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยตัดสินคำร้องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในรัฐธรรมนูญและสร้างบรรทัดฐาน ให้ทุกฝ่ายได้อยู่ภายใต้กรอบกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ

 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

 

รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด - 19 ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทุกหย่อมหญ้าจึงต้องออกมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา แต่กลับถูกฝ่ายการเมืองที่หวังให้เปลี่ยนแปลงตัวผู้นำดึง สถานการณ์โควิด-19 ให้มาเป็นประเด็นทางการเมือง เคลื่อนไหวทำลายความเชื่อมั่นในรูปแบบต่างๆ

 

 

 

"ทีมข่าวคมชัดลึก" ขอนำเสนอ 10 เหตุการณ์ทางการเมืองร้อนในรอบปี 2564 ดังนี้ 

 

1. ศึกซักฟอกรมต."ลุงตู่"คะแนนลด

 

"ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ถือเป็นการทำหน้าที่สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ 5 รมต. ซึ่งได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)     

 

ทุกครั้งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หนีไม่พ้นฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่"พล.อ.ประยุทธ์" เป็นสำคัญ โดยมีความพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการอาศัยเสียงในสภาโหวตไม่วางใจนายกฯให้ได้ ท่ามกลางกระแสข่าวในขณะนั้นว่า มีความพยายามจากคนในพรรคร่วมรัฐบาลสมคบคิดกับฝ่ายค้านเพื่อล้มพล.อ.ประยุทธ์  พร้อมกับอาศัยมวลชนเดินเกมนอกสภา ตั้งแต่ก่อนการอภิปรายเพื่อดิสเครดิตทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาลคู่ขนานกันไป 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. ก่อนลงมติในวันที่ 4 ก.ย. ผลการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เฉลิมชัย รมว.เกษตรฯจากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับความไว้วางใจสูงสุด 270คะแนน ตามด้วย อนุทิน ศักดิ์สยาม จากภูมิใจไทยได้ไป 269 คะแนน  ที่ผิดคาดคือชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จากพลังประชารัฐได้ 267 คะแนน แซงหน้า พล.อ. ประยุทธ์  ไป 3 คะแนน ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น ในอันดับสุดท้าย  263 คะแนน

 

 

2. ปฏิบัติการกบฎพลังประชารัฐ ล้ม"นายกฯ" 

ร่องรอยความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐที่มีต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปริแตกอย่างชัดเจนในปี 2564 จากกรณีการเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพปชร. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์  พร้อมกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคและเคยดำรงตำแหน่งรมช.แรงงานขณะนั้น ต้องการรวบรวมจำนวนเสียงในสภาทั้งจากพรรคร่วมและฝ่ายค้าน ลงคะแนนไม่ไว้วางใจ "นายกฯ" แต่เมื่อข่าวกระฉ่อนเข้าหู พล.อ.ประยุทธ์  นำไปสู่การปลด ทั้งสองคน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รมต.สิ้นสุดลง

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐและอดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์

 

เหตุการณ์ดังกล่าว ยังนำไปสู่การปล่อยข่าวหวังให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างกลุ่ม 3 ป. กับ กลุ่มก๊วนที่อยู่ร่วมกับ"ร.อ.ธรรมนัส" โดยร.อ.ธรรมนัส แม้จะไม่มีตำแหน่งรมต.แต่ยังเป็นแม่บ้านพรรค ด้วยการยืนยันว่า ที่เขายังอยู่กับพรรคพปชร. เพราะพล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. ต้องการให้ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งของพรรคต่อไป ขณะเดียวกันมีการขยายภาพความขัดแย้งออกมาว่า พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์  ไม่ลงรอยกัน เพราะต่างถือหางกลุ่มก๊วนของตน  กระทั่ง พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตรต้องออกมาสยบข่าว ว่า สามพี่น้อง 3 ป. ยังรักกันเหมือนเดิม 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ฟากฝ่าย"ร.อ.ธรรมนัส" ที่ไม่สามารถลงรอยกันได้เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ต่างทำหน้าที่ย่อมส่งผลกระทบไปถึงเส้นทางการเมืองของนายกฯและ"ร.อ.ธรรมนัส" ภายใต้ชายคา พปชร. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

 

3. สมรภูมิเดือดแยกดินแดง


สิงหาคม 64 บริเวณแยกดินแดง กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันด้วยความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จนถูกตั้งชื่อว่า "สมรภูมิดินแดง" ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ตั้งชื่อตัวเองอย่างไม่เป็นทางการว่า  "กลุ่มทะลุแก๊ซ" หรือ "กลุ่มทะลุแก๊ส" 

 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

 

แยกดินแดงกลายเป็น "สมรภูมิ" ที่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนมาปะทะกันแทบทุกค่ำคืน ซึ่งผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มากหลักร้อย แบบไร้แกนนำ ไร้การปราศรัย ไร้กิจกรรมที่ชัดเจน  บางคนบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ชุมนุมแต่เป็นแก๊งวัยรุ่นป่วนเมือง และระยะหลังเกิดความรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้มีผู้มาร่วมชุมนุมลดน้อยลงเรื่อยๆประกอบกับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคมการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงก็เริ่มหายไปจนถึงปัจจุบัน


4. แก้รธน.ฉบับเพื่อการเมืองฉลุย แต่เพื่อกลุ่ม ตีตก


 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

ตลอดปีที่ผ่านมามีความพยายามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรภาคประชาชนเสนอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฎว่า จากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  13 ร่าง ผ่านรัฐสภาร่างเดียวถูกตีตก  12 ร่าง  นั่นคือร่างฯของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับแก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นำไปสู่การแก้กม.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างกม.ประกอบรธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะที่ครม.เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. เห็นชอบข้อเสนอของกกต.ในการจัดทำร่างกม.ประกอบรธน.สองฉบับเพื่อนำเสนอให้สภาฯพิจารณาต่อไป ขณะที่เดียวกันมีความพยายามขององค์กรภาคประชาชน ได้เสนอร่างแก้ไขรธน.เข้าสภาเช่นเดียวกัน นำทีมโดย  "ไอติม" นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และประชาชนกว่า 1.35 แสนเสียง นำเสนอ และมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้ชี้แจงหลัก โดยมีประเด็นสำคัญคือ การเลิกวุฒิสภา (ส.ว.), ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร แต่ก็ไม่อาจผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้

 

ถึงกระนั้น ยังมีความพยายามแต่ละฝ่ายที่จะเดินหน้าแก้ไขรธน.ให้ได้ตามเป้าประสงค์ของพวกตน โดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป  

 

5. อุ๊งอิ๊ง-แคนดิเดตนายกฯ คนรุ่นใหม่

 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

 

"อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร"  บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือ "โทนี วู้ดซัม" ตกเป็นข่าวคนดังแวดวงการเมือง ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง นับแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการและเดินเข้าสู่พรรคเพื่อไทยในนามประธานที่ปรึกษาพรรค ด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกับวรรคทอง "คุณพ่อ ปรารถนาที่จะได้กลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง กลับมากราบผู้มีพระคุณ" สะดุดหูและสะดุดใจให้คนการเมืองเฝ้าจับตาทุกย่างก้าวของ"อุ๊งอิ๊ง" และนับแต่วันนั้นจนมาถึงวันนี้ "อุ๊งอิ๊ง" ได้กลายเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทยอาจเสนอชื่อ ทันทีที่ปี่ฆ้องเลือกตั้งส.ส.ในสมัยหน้าเกิดขึ้น แม้อุ๊งอิ๊งจะบอกว่าไม่คิดเป็นนักการเมือง เพียงหวังให้คนรุ่นใหม่มีโอกาส พรรคเพื่อไทยอาจมีโอกาสได้เป็นพรรคการเมืองหลักที่เข้ามาแก้วิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตโอกาสของคนรุ่นใหม่ จึงอยากใช้ประสบการณ์มาทำความฝันของคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นใน 3 เรื่องที่อยากปฏิรูป คือ 1.การศึกษา 2.เทคโนโลยี ให้เข้าถึงมากกว่านี้ และ 3. ส่งเสริม Soft Power อย่างจริงจัง 

 

6. สภาล่มซ้ำซาก “สภาอับปาง” 

 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

 

ปี 2564 หลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญ ประจำปีครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 22 พ.ค. เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันคือการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญ ประจำปี ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 และจะสิ้นสุดสมัยประชุมวันที่ 28 ก.พ. 2565

 

ทั้งนี้ พบว่าตลอดระยะเวลาของการประชุมสภาตั้งแต่ต้นปี 2564 ได้เกิดเหตุการณ์สภาล่มทั้งสิ้น 6 ครั้งด้วยกัน คือ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย / วันที่ 17 ก.ย. 2564 ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ / วันที่ 3 พ.ย. 2564 วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา /วันที่ 17 พ.ย. 2564 วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง / วันที่ 15 ธ.ค. 2564 วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ / วันที่ 17 ธ.ค. 2564 วาระพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการเรื่องศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ดังนั้น จากเหตุการณ์สภาล่มซ้ำซากและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ได้ยึดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศเป็นหลัก จนทำให้สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ตั้งฉายาของรัฐสภาว่า "สภาอับปาง" ในที่สุด 

 

7. ศึกชิงชัยเก้าอี้พ่อเมืองกรุงเทพฯ

 

หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบต. และ สมาชิก อบต. ไปเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2564 ไทม์ไลน์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็เกิดขึ้นทันที โดยล่าสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แย้มว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงกลางปี 2565 แต่ก่อนจะถึงกลางปีหน้า บรรดาว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่เป็นผู้สมัครอิสระและผู้สมัครที่มีพรรคการเมืองสนับสนุนต่างเปิดตัวและลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก

 

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  อดีตรมว.คมนาคม ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.

 

เริ่มจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ขยันลงพื้นที่กทม.และเปิดตัวทีมงานบ้างแล้ว หลังจากที่เจ้าตัวได้หาเสียงมาถึง 2 ปีแล้ว ครั้งนี้เขาตั้งใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองใด ตามด้วย รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว. ก็เปิดตัวมาได้ 2 ปีแล้วเช่นกันและหาเสียงมาเป็นระยะ ๆ แล้ว

 

ผศ.ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขอลงท้าชิงเก้าอี้ฯผู้ว่ากทม.

 

ส่วนคนนี้ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 และลงพื้นที่หาเสียงในกทม.อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่ สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. หลังลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และเตรียมเปิดตัวหลังปีใหม่ ในนามพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง ด้านพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และ พรรคชาติพัฒนา ก็เล็ง ๆ จะส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เช่นกัน ต้องยอมรับว่าเก้าอี้พ่อเมืองกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากเก้าอี้ทองคำที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองต่างใฝ่ฝันอยากเข้าไปนั่งและจับจองเพื่อให้ได้ชัยชนะในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น 

 


8. พรรคการเมืองใหม่ ลุยเลือกตั้งใหญ่

 

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือแบบส.ส. 400 คน (400 เขต) และส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 สนามการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้าก็ร้อนแรงมาตามลำดับ  พอ ๆ กับกระแสการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ๆ และว่าที่ผู้สมัครส.ส.และสมาชิกพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็เริ่มเปิดตัวพรรค เปิดทีมงาน เปิดนโยบาย เปิดวิสัยทัศน์ หรือแม้แต่เชิญชวน ชักจูง และจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมทำงานการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองใหม่ที่เปิดตัวและลงพื้นที่หาเสียงอย่างเห็นได้ชัดเจนในขณะนี้

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

 

อุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง  เตรียมเปิดตัวพรรค "สร้างอนาคตไทย"

 

มีทั้งพรรค "ไทยสร้างไทย" นำโดยแม่ทัพหญิงเหล็ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ตามด้วยพรรค "กล้า"  ที่มีหัวเรือใหญ่มือเศรษฐกิจของประเทศ "กรณ์ จาติกวณิช" เป็นหัวหน้าพรรค ล่าสุดพรรค "สร้างอนาคตไทย" ภายใต้การนำของอดีตรมว.คลัง "อุตตม สาวนายน" และอดีตรมว.พลังงาน "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์"  ซึ่งเตรียมเปิดตัวพรรควันที่ 3 ม.ค.65
 

นี่ยังไม่นับรวม พรรคการเมืองเก่าระดับบิ๊กๆ ที่เก๋าเกมการเมืองอีกหลายพรรค ดังนั้น การเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้านี้ ทุกสนามคงลุกเป็นไฟและแข่งขันกันอย่างถึงพริกถึงขิงแน่นอน

 

9. ลดโทษคดีทุจริตอย่างน่ากังขา

 

กลายเป็นประเด็นร้อนส่งท้ายปี เมื่อมี"พรฎ.อภัยโทษ" ในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม 64  ซึ่งในรายละเอียดปรากฎว่า ได้มีการลดโทษให้กับผู้ต้องขังในคดีทุจริต อย่างเช่น นักการเมืองและข้าราชการที่ต้องคดีทุจริตจำนำข้าว ได้รับการลดโทษในครั้งนี้ ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) รวมถึงภาคการเมือง จนมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบกระบวนการลดโทษอย่างผิดปกติ ในที่สุด นายกฯได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปมปัญหาดังกล่าวโดยมีนายเข็มชัย  ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ซึ่งให้เวลาทำงานพิจารณาภายใน 30 วัน

 

10 เหตุการณ์เด่นทางการเมืองรอบปี 2564  ปีแห่งการกัดเซาะรธน.หวังล้มนายกฯ

 

การทำงานของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวกำลังเป็นที่จับตามองไปถึงปีหน้าว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร  โดยที่องค์กรภาคประชาชนก็มีจุดยืนให้ทบทวนการลดโทษกับนักโทษคดีทุจริต ไม่ใช่ลดระยะเวลาคุมขังชนิดฮวบฮาบอย่างที่เคยกระทำ 


10.  ปีแห่งการหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. 

 

ปี2564 นับเป็นปีที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกยื่นคำร้องให้่ตรวจสอบพฤติกรรมความผิดหลายราย และถูกองค์กรอิสระ ไม่ว่าเป็นป.ป.ช. องค์กรLottery ศาลฯ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ บางรายถูกชี้มูลความผิด  เช่น   นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง เขต1 นางนาที  รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งสามคนสังกัดพรรคภูมิใจไทย ในคดีจริยธรรม กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท  และยังมีมติชี้มูลความผิด น.ส.ธณิกานต์  พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในคดีจริยธรรมกรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10  ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องทำให้ท่านผู้แทนเหล่านี้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.  

 

ไม่เพียงเท่านั้น ศาลฯรับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอล ซึ่งในส่วนนี้มี 3 ส.ส.พปชร.เข้าไปเกี่ยวข้องตั้แต่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ  นางทัศนียา รัตนเศรษฐ-ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

 

เช่นเดียวกับ กรณีที่ป.ป.ช.ยื่นคำร้อง นางปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี ศาลฎีกาฯสั่งให้ น.ส.ปารีณา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และกมธ. 

 

สิระ เจนจาคะ  ต้องพ้นสภาพส.ส. ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังมีบรรดานักการเมืองที่ต้องหลุดจากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม กปปส. เช่น นายณัฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ (ส.ส.บัญชีรายชื่อพปชร.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดีอีเอส (ส.ส.บัญชีรายชื่อพปชร.  นายอิสระ สมชัย (ส.ส.บัญชีรายชื่อปชป.) นายถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม (ส.ส.เขต6 สงขลาปชป.)  นายชุมพล จุลใส อดีตส.ส.ชุมพร  รวมไปถึงนายสิระ เจนจาคะ  อดีตส.ส.เขตหลักสี่ กทม. จึงต้องทำให้มีขยับส.ส.บัญชีรายชื่อขึ้นมาทดแทน พร้อมกับมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส. ในพื้นที่เขต 1 จังหวัดชุมพร  เขต 6 สงขลา และเขต 9 หลักสี่ กทม. 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ