ข่าว

"ศาลให้ประกัน" ลูกน้ำ "อดีตพิธีกรทีวี" หลังโดนจับ คดีฉ้อโกง-พ.ร.บ.คอมพ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลให้ประกัน" ลูกน้ำ "อดีตพิธีกรทีวี" หลังโดนจับในคดีฉ้อโกงประชาชน และ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยตีราคาประกัน 50,000 บาท

28 ธ.ค.2564   ที่ศาลอาญาธนบุรี ถ.เอกชัย พนักงานสอบสวน สน.ราษฎร์บูรณะ ยื่นคำร้องฝากขัง น.ส.อิสราลักษณ์ บุรารักษ์ หรือ  ลูกน้ำ อายุ 29 ปี อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 6 ปาก โดยขอคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

 

ตามคำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า ผู้เสียหายรู้จัก น.ส. อิสราลักษณ์ ผู้ต้องหา ผ่านทางไอจีและเฟซบุ๊กเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ตลอดระยะเวลาที่ ผ่านมาเห็น น.ส.อิสราลักษณ์ ทำธุรกิจขายของออนไลน์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นไดร์ม้วนผม เครื่องม้วนผม เครื่องสำอาง แบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักในท้องตลาด ซึ่งผู้กล่าวหาเองก็เคยได้ทำการซื้อสินค้าเหล่านี้มา

 

 

ต่อมา น.ส.อิสราลักษณ์ ได้ทำการเปิดลงทุนเงินจากบุคคลทั่ว ๆไปมายังธุรกิจ ที่ได้อ้างว่ามีหลากหลายธุรกิจ ผ่านทางไอจีสตอรี่ โดยใช้แรงจูงใจให้ดอกเบี้ยเปอร์เซ็นต์ที่สูง ผู้กล่าวหาเคยได้ทำการซื้อสินค้า และได้ทำการติดตาม น.ส.อิสราลักษณ์ มานาน จึงไว้เนื้อเชื่อใจและร่วมลงทุน ดังนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยนำเงินสดเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 60,000 บาท และในการลงทุนนั้นผู้กล่าวหาได้เลือกเงื่อนไขที่ 7 จากนั้น น.ส. อิสราลักษณ์ ก็ได้ทำการส่งสัญญาฉบับแรกมาให้ผู้กล่าวหาตรวจทาน ดังจะเห็นได้ว่า น.ส. อิสราลักษณ์ ได้มีการพิมพ์ตอบกับผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาเลยคิดว่าบุคคลนี้ไม่น่าหลอกหลวง เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสามารถติดต่อกันได้ทางไลน์ตลอดไม่ว่าช้า-เร็ว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมกาพันธ์ 2564 ผู้กล่าวหาได้ลงทุนเพิ่มโดยโอนเข้าบัญชี น.ส.อิสราลักษณ์ อีก 60,000 บาท

 

จากนั้น น.ส.อิสราลักษณ์ ได้ทำการชักชวนผู้กล่าวหา ว่าทำไมไม่ลงทุนที่ 150,000 บาท โดยเอาเปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลมาเป็นแรงจูงใจและอ้างว่าหวังดี แต่ผู้กล่าวหาได้ปฏิเสธไป โดยทุกครั้งที่ผู้กล่าวหา ตกลงร่วมลงทุนนั้น ทาง น.ส.อิสราลักษณ์ จะส่งสัญญา มาให้ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อ และให้ส่งกลับไปยัง น.ส.อิสราลักษณ์ อีก 1 ฉบับ แต่เมื่อผู้กล่าวหา ลงทุนไปแล้วนั้น ผู้กล่าวหาได้รับหนังสือสัญญาจาก น.ส.อิสราลักษณ์ ล่าช้า ซึ่งผู้กล่าวหาได้ทวงถามอยู่บ่อยครั้ง จน น.ส.อิสราลักษณ์ ส่งสัญญามาให้ผู้กล่าวหา โดยสัญญาฉบับแรกระบุว่าเงินปันผลก้อนแรกจะเข้าสิ้นเดือน มิ.ย.2564 เดือนละ 5,650 บาท จำนวน 12 เดือน ถึงเดือน พ.ค.2565
 

 

พอถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2564 น.ส.อิสราลักษณ์ ก็ไม่ได้ทำการโอนตามกำหนดโดยอ้างว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ตนใช้โอนเงินนั้นมีปัญหาจึงทำการขอเปลี่ยนสัญญาฉบับใหม่มาเป็นโอนสิ้นเดือนสิงหาคม 64 ไปจนถึงเดือนเมษายน 65 ระยะเวลา 9 เดือนโดยให้เปอร์เซ็นต์ของเงินปันผลเพิ่มมากขึ้นจากสัญญาฉบับเก่าที่พอครบสัญญาจะได้ยอดเงินเป็นสัญญาฉบับสองที่ทำขึ้นมาแทน รวมเป็นเงิน 150,000 บาท มาเป็นให้เงินปันผล 9 งวด งวดละ 17,000 บาท ยอดรวมเป็น  153,000 บาท เพิ่มขึ้นมาอีก 3,000 บาท

 

แต่พอถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 64 เงินปันผลก็ยังไม่มีการโอนใด ๆเข้ามา ผู้กล่าวหา จึงได้ติดตามทวงถามจาก น.ส.อิสราลักษณ์ แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับ น.ส.อิสราลักษณ์ ตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 พนักงานสอบสวน ขอศาลอาญาธนบุรี ขอหมายจับผู้ต้องหาได้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การ รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

 

ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาญาติของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 50,000 บาท

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ