ข่าว

งานนี้มีหนาว บี้กรมบัญชีกลางส่อง 115 กองทุน อันไหนถลุงงบฯล้าสมัยยุบทิ้งซะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศ.ดร.กนก บี้ กรมบัญชีกลาง สังคายนา 115 กองทุน ยุบ ที่ล้าสมัย ตั้งใหม่ให้เท่าทันโลก ติง วางเกณฑ์ประเมินแค่ทำงานเสร็จ ไม่ดูผลสำเร็จจริงหรือไม่ วอนผู้คิดค้น-วิจัย อย่าหยุดแค่งานวิชาการ ต้องส่งต่อให้ ปชช.-เกษตรกร แก้ปากท้อง-ความยากจนด้วย

 

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.64  ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรายงานทุนหมุนเวียน ประจำปี 2562 ที่กรมบัญชีกลาง รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ยังเป็นลักษณะของการรวบรวมตัวเลขด้านการใช้จ่ายของกองทุนต่าง ๆ 115 กองทุน และทั้งหมดนี้มี 5 ประเภท ประเมิน 6 ด้าน ซึ่งตนเห็นว่าการพยายามรวมเรื่องเหล่านี้มาไว้ด้วยกัน ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนากองทุน

 

ที่สำคัญคือกองทุนนี้มีสินทรัพย์มากถึง 4 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วยซ้ำ จึงฝากให้กรมบัญชีกลางพิจารณากรอบ หลักเกณฑ์ ประเมินผลงานใหม่ เนื่องจากไม่ได้ลงรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า สวทช. มีสองประเด็นที่อยากให้พิจารณาคือ  ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย กรมบัญชีกลางประเมินให้คะแนนเต็ม 5 สองปีซ้อนคือ ในปี 2561และ2562

 

ทั้งที่ข้อเท็จจริงผลงานไม่เต็มตามที่ให้คะแนน เพราะงานส่วนใหญ่ของสวทช.สำเร็จเป็นงานวิชาการ แต่ไม่สามารถส่งต่อไปยังเกษตรกรเพื่อให้ขยายผลสร้างรายได้ เช่น สารไตรโคเดอร์มา สวทช.ผลิตได้ แต่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน แต่ในรายงานของกรมบัญชีกลางกลับไม่มีการตรวจสอบเชิงลึกในเรื่องเหล่านี้

 

"ถ้ากรมบัญชีกลางให้คะแนนเต็มในส่วนการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยหมายถึงนักวิจัยคำตอบคือใช่ แต่ถ้าหมายถึงประชาชน เกษตรกร คำตอบคือไม่ใช่ เพราะความสำเร็จด้านวิจัย ไม่ได้ถูกนำไปขยายให้เกิดการใช้ประโยชน์ในหมู่ประชาชน จึงอยากให้มีการปรับวิธีคิดใหม่ ทุกงานวิจัยต้องรับใช้ประชาชน กรมบัญชีกลางจึงควรมีการปรับเกณฑ์การประเมินใหม่ นอกจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ต้องคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย"  ศ.ดร.กนก กล่าว

 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า 115 กองทุน สินทรัพย์ 4 ล้านล้าน อาจเรียกได้ว่า ทำงานเสร็จแต่ไม่ได้มีผลสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนเท่าที่ควร อีกทั้งหลายกองทุนตั้งมาหลายสิบปี ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการปรับใหม่ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และบริบทของสังคม

 

"กองทุนไหนที่ล้าสมัย อาจต้องยุบ ตั้งกองทุนใหม่ที่จะตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอให้กรมบัญชีกลางนำข้อเสนอเหล่านี้ไปทบทวน เพื่อนำไปสู่การยกเครื่องกองทุนใหม่ ให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปากท้องและคนจน" รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าว  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ