ข่าว

คลอดแนวปฏิบัติ"หลักเสรีภาพทางวิชาการ" เอนก ลงนามประกาศลง ราชกิจจาฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ลงนาม ออกแนวปฏิบัติหลัก"เสรีภาพทางวิชาการ" หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค ในสถาบันอุดมศึกษา ประกาศลงราชกิจจาฯ บังคับใช้แล้ว

23 ธ.ค.64  นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์  รมว.อุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ ได้ลงนาม ออกแนวปฏิบัติหลักเสรีภาพทางวิชาการ โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว  

 

แนวปฏิบัติตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค ระบุว่า โดยที่สถาบันอุดมศึกษาเป็นองค์กรสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาของประเทศ ส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ เสริมสร้างพื้นฐานของการพัฒนากำลังคน และขับเคลื่อนประเทศ ให้มีความเจริญก้าวหน้า การบริหารงานและการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพของสถาบันอุดมศึกษา ย่อมส่งผลให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาสามารถพัฒนาองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคล เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการจัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษาขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการจัดการด้านการอุดมศึกษาอย่างหลากหลาย เพื่อให้ การจัดการด้านการอุดมศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการอุดมศึกษา

 

ประกอบกับตามความในมาตรา 9 (1) (2) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้การจัดการอุดมศึกษาต้องเป็นไปตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพ ทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค

 

คณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงได้นำแนวคิด ดังกล่าวมากำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางหรือมาตรฐานกลางในการบริหารงาน และการดำเนินงานภายใน รวมทั้งในการกำหนด แก้ไข เพิ่มเติม และปรับปรุงข้อบังคับของ สถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา 9 (๑) (๒ ) (3) (4) แห่งพระราชบัญญัติ การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 27 เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 จึงออกแนวปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 แนวปฏิบัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ 2 ในแนวปฏิบัตินี้ "การอุดมศึกษา" หมายความว่า การศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรม ผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง "สถาบันอุดมศึกษา" หมายความว่า สถาบันที่จัดการอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับต่ำกว่า ปริญญาทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชน "มาตรฐานการอุดมศึกษา" หมายความว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ และเกณฑ์อื่นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อกำหนดขั้นต่ำของหลักสูตรการศึกษา และข้อกำหนด ขั้นต่ำของเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และมาตรฐานอื่นตามที่กำหนด ในกฎกระทรวง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริม การกำกับดูแล การตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา

 

ส่วนที่ 1 หลักความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ข้อ 3 สถาบันอุดมศึกษาควรมีการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอนและการวัดผล ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในปัจจุบันและทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต โดยนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึง การสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และประเทศ

 

ข้อ 4 สถาบันอุดมศึกษาควรเปิดเผยหลักสูตรที่สภาสถาบันอุดมศึกษาได้พิจารณาอนุมัติ ต่อสาธารณะ

 

ข้อ 5 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาชุมชน สังคม และ ประเทศตลอดจนควรส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรภายในสถาบันอุดมศึกษาสร้างสรรค์และพัฒนาองค์ความรู้

 

ข้อ 6 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่าง สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ รวมทั้งควรจัดให้มีระบบการตรวจสอบ ก่อนเริ่มการศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดปัญหาความซ้ำซ้อนของการศึกษาวิจัย

 

ข้อ 7 สถาบันอุดมศึกษาควรจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

 

ข้อ 8 สถาบันอุดมศึกษาควรจัดการบริการวิชาการแก่สังคมให้สอดคล้องกับความต้องการและ ความจำเป็นของชุมชน สังคม และประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาของชุมชน สังคม และประเทศ ได้อย่างเป็นรูปธรรมอันนำไปสู่ความเจริญงอกงามทางวิชาการ ตลอดจนสอดคล้องกับแนวทาง ที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกำหนด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล และคุ้มค่า ในด้านการใช้ทรัพยากร

 

ข้อ 9 สถาบันอุดมศึกษาควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกทั้งหน่วยงานของรัฐ หน่วยงาน ภาคเอกชน และชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยกำหนดหลักสูตรการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การวิจัย ให้ตอบสนองกับความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศ

 

ข้อ 10 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ผลการวิจัยและนวัตกรรม สู่หน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และชุมชน สังคม และในระดับประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการน าผลการวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาไปใช้ประโยชน์ด้วย

 

ข้อ 11 สถาบันอุดมศึกษาควรมีกลไกการพัฒนา ช่วยเหลือ สนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเสริมสร้างสันติภาพ และมุ่งให้การอุดมศึกษาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสร้าง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

ข้อ 12 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสนับสนุน ให้บุคลากร นิสิต นักศึกษานำความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ข้อ 13 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมสนับสนุนการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและของชาติ รวมทั้งมุ่งเน้นการเรียนการสอน และกิจกรรมของผู้เรียนให้มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และบูรณาการการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

 

ข้อ 14 สถาบันอุดมศึกษาควรเตรียมความพร้อมและยอมรับการตรวจสอบจากชุมชน สังคม และประเทศ และควรพร้อมที่จะรับผิดชอบในผลของการตรวจสอบดังกล่าวด้วย

 

ส่วนที่ 2 หลักเสรีภาพทางวิชาการ

 

ข้อ 15 สถาบันอุดมศึกษาควรกำหนดแนวทางปฏิบัติในการใช้เสรีภาพทางวิชาการ โดยต้องให้ คณาจารย์มีเสรีภาพทางวิชาการ ในการเรียน การสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการ และการแสดง ความคิดเห็นทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการโดยยึดหลั ก ความถูกต้องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ

 

ข้อ 16 สถาบันอุดมศึกษาต้องให้ความส าคัญกับการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของบุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งควรจัดให้มีสิ่งอ านวยความสะดวก และกิจกรรมในการเรียน การสอน การวิจัยการค้นคว้า การบริการทางวิชาการ และการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ทางวิชาการ อันเป็นกลไกที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถทางวิชาการ ศักยภาพและขีดความสามารถ ในการแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษา

 

ข้อ 17 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องปราศจากการข่มขู่ การใช้อำนาจ หรือการแทรกแซงอำนาจ ในเชิงนโยบายจากสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม อันจะนำไปสู่ การปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ การใช้ศักยภาพทางวิชาการ หรือการลิดรอนเสรีภาพ ทางวิชาการ

 

ข้อ 18 สถาบันอุดมศึกษาหรือสภาสถาบันอุดมศึกษาไม่ควรปิดกั้น คุกคาม ครอบงำ หรือจำกัด การใช้เสรีภาพทางวิชาการของบุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา

 

ข้อ 19 สถาบันอุดมศึกษาควรกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์อันเป็นหลักประกัน การให้ความช่วยเหลือ และการคุ้มครองแก่คณาจารย์ บุคลาก ร นิสิต และนักศึกษาผู้ใช้เสรีภาพ ทางวิชาการ

 

ข้อ 20 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ กับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการ และการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษา อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

ข้อ 21 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องส่งเสริมและพัฒนาการใช้เสรีภาพทางวิชาการของบุคลากร นิสิต นักศึกษา รวมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันทางวิชาการ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การจัดการ การเรียนรู้สมัยใหม่ เพื่อให้ทันต่อสังคมยุคโลกาภิวัตน์ รวมทั้งใช้การเรียนรู้และการบูรณาการในทางวิชาการ ให้สอดคล้องกับหลักประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา อันจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนา และปรับปรุงเกณฑ์คุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา


ข้อ 22 สถาบันอุดมศึกษาจะต้องเน้นย้ำถึงพฤติกรรมที่มีจริยธรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม ในทุกปฏิสัมพันธ์และการติดต่อกับบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสถาบันอุดมศึกษา ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และควรกำหนดมาตรฐานจริยธรรมหรือการประเมินผลที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ โดยปราศจากกลไก ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ เพื่อให้บุคลากรได้พัฒนาผลงานทางวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล หรืออาจเป็นการกำหนดกรอบที่เป็นบรรทัดฐานและข้อห้ามของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้มีความโปร่งใสและสร้างความไว้วางใจต่อสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงความเชื่อมั่นในความยุติธรรม ขององค์กร ทั้งนี้ หลักเกณฑ์หรือกรอบที่เป็นบรรทัดฐานจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ของสถาบันอุดมศึกษา

 

ส่วนที่ 3 หลักความเป็นอิสระ

 

ข้อ 23 สถาบันอุดมศึกษาย่อมมีอิสระในการกำหนดหลักสูตรการศึกษา และมีอิสระ ในการจัดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการศึกษาจะต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำ ด้านคุณภาพที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนดและมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน พัฒนาทักษะอาชีพชั้นสูง ค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเพื่อพัฒนาสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ เป้าหมายและเป็นไปตามนโยบายของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ของการจัดการอุดมศึกษาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 สภาสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน และมีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้ สถาบันอุดมศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง

 

ข้อ 24 สถาบันอุดมศึกษาย่อมมีอิสระในการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาควร กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ของการบริหารงานบุคคล โดยค านึงถึงวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษา แต่ละแห่ง รวมทั้งจัดให้มีหลักประกันความเป็นธรรมสำหรับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา 

 

ข้อ 25 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการกระจายอำ นาจการบริหารงาน เพื่อให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นและคล่องตัว

 

ข้อ 26 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกำกับดูแลให้ส่วนงานที่มีหน้าที่ ในการบริหารงานบุคคลทำหน้าที่อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากร และยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ

 

ข้อ 27 สถาบันอุดมศึกษาควรมีระบบการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรอย่างโปร่งใส ภายใต้มาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ

 

ข้อ 28 สถาบันอุดมศึกษาควรกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสรรหา การบรรจุแต่งตั้ง การกำหนด ค่าตอบแทนของบุคลากรให้มีความชัดเจน โปร่งใสและเป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายกำ หนด เพื่อให้เกิดแรงจูงใจทางด้านการบริหารงานบุคคลอย่างมีคุณภาพเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้ ในการกำหนดค่าตอบแทนควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่า ประกอบกัน อันนำไปสู่การสร้างความสมดุลส าหรับการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

ข้อ 29 สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรให้เกิดการพัฒนาและ มีความก้าวหน้าในสายงาน ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาควรส่งเสริมและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ให้แก่บุคลากรอันจะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละบุคคลตามสายงาน

 

ข้อ 30 สถาบันอุดมศึกษาย่อมมีอิสระในการบริหารจัดการด้านการเงิน งบประมาณและทรัพย์สิน ทั้งนี้ ในการกำหนดทิศทาง วางเป้าหมาย นโยบาย และแนวทางในการพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษา ควรสอดคล้องกับความต้องการและความจ าเป็นของสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนแผนด้านการอุดมศึกษา สภาสถาบันอุดมศึกษาพึงมีหน้าที่ในการก าหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน และขจัดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนมีหน้าที่ในกำกับดูแล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง
 

ข้อ 31 สถาบันอุดมศึกษาควรจัดสรรงบประมาณเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษานั้นเพื่อให้ เกิดการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของการผลิตบัณฑิต การวิจัยและนวัตกรรม

 

ข้อ 32 สภาสถาบันอุดมศึกษาควรออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหาร การเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษา โดยกำหนดให้มีกลไกในการควบคุมประสิทธิภาพและประสิทธิผล ของการบริหารการเงิน งบประมาณ การพัสดุและทรัพย์สิน ส่วนที่ 4 หลักความเสมอภาค

 

ข้อ 33 สถาบันอุดมศึกษาควรกำหนดแนวทางการป้องกันการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุของความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ อายุ สถานะของบุคคล ฐานะ  ทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพของบุคคล ความเชื่อของศาสนา หรือความเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รวมถึงเพศทางเลือกไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อม

 

ข้อ 34 สถาบันอุดมศึกษาควรจัดให้มีการจัดการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงจัดทำ สถานที่ภายในสถาบันอุดมศึกษาให้เหมาะสมกับบุคคลทุกประเภท

 

ข้อ 35 สถาบันอุดมศึกษาอาจจัดให้มีสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นไว้ภายในสถาบันอุดมศึกษา

 

ข้อ 36 สถาบันอุดมศึกษาควรปลูกฝังแนวคิดด้านความเสมอภาคให้กับบุคลากร และนิสิต นักศึกษา

 

ข้อ 37 สถาบันอุดมศึกษาไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อบุคลากรไม่ว่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง ทางด้านสถานะและตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

 

ข้อ 38 สถาบันอุดมศึกษาควรจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาทั้งในและนอกระบบ รวมถึงจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ทั้งนี้ หลักสูตรการศึกษาที่สภาสถาบันอุดมศึกษา จะอนุมัติเพื่อให้เปิดสอนได้ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำด้านคุณภาพที่คณะกรรมการมาตรฐาน การอุดมศึกษากำหนด

 

ข้อ 39 สถาบันอุดมศึกษาควรจัดสรรงบประมาณหรือรายได้ตามสมควร เพื่อเป็นทุนการศึกษา ให้แก่นิสิต นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา ขจัดอุปสรรค ส่งเสริม หรืออำนวยความสะดวก ให้สามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม อันเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมศักยภาพ ทางการศึกษาที่สูงขึ้นให้แก่นิสิต นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนด

 

ส่วนที่ 5 การเปิดเผยผลการดำเนินการตามแนวปฏิบัติ

 

ข้อ 40 สถาบันอุดมศึกษาควรเปิดเผยผลการดำเนินการตามแนวปฏิบัติตามหลัก ความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค ดังกล่าวข้างต้น อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

 

ประกาศ ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ