ข่าว

"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"ภายใต้ "ท็อปบู๊ต"สืบทอดต่อเนื่องถึงปัจจุบันEP.15

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พล.อ.สุจินดา ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา "นายอานันท์ ปันยารชุน" จึงได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลเข้ามาดูแลเหตุการณ์และยุบสภา เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ติดตามตอนต่อย้อนรอยรธน. รธน.ฉบับประชาชนภายใต้ท็อปบู๊ต EP.15

 

"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"ภายใต้ "ท็อปบู๊ต"สืบทอดต่อเนื่องถึงปัจจุบันEP.15

 

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 18 ของประเทศไทย และเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน หลังจากจัดการครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 โดยทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 6 เดือนเท่านั้น

 

สาเหตุที่มีการเลือกตั้งกระชั้นชิด เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ 17  "พลเอกสุจินดา คราประยูร" ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดการประท้วงจากนักการเมือง ประชาชนและนิสิตนักศึกษาจนเกิดเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในเดือนพฤษภาคม 

 

พล.อ.สุจินดา คราประยูร

 

นายอานันท์  ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

 

ในที่สุด พล.อ.สุจินดา ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา "นายอานันท์ ปันยารชุน" จึงได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลเข้ามาดูแลเหตุการณ์และยุบสภา เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ และให้สภาผู้แทนราษฎรที่จะได้ผู้แทนชุดใหม่เข้าไปเลือกรัฐบาล 

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นแบบแบ่งเขต ที่แต่ละเขตมีผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินเขตละ 3 คน จำนวนผู้แทนราษฎรมี 360 คน เท่ากับการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่ง จึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ "นายชวน หลีกภัย" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงถูกเสนอตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 20 ของประเทศไทย 

 

ชวน หลีกภัย

 

แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ อยู่บริหารได้เพียง 2 ปีกว่า พรรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ "นาย นิพนธ์  พร้อมพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้งสองคนเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาว่าคอรัปชั่นในเรื่องการปฏิรูปที่ดินเกี่ยวกับ สปก. 4-01 แต่ทั้งสองคนได้ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนที่จะมีการอภิปราย

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ

 

นิพนธ์  พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

จากนั้น"นายชวน" จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538 ก่อนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538 รวมเวลาที่เป็นรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนาย ชวน ประมาณ 2 ปี 8 เดือน

 

การเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 มีสิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ คือ อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ลดจาก 20 ปีเหลือ 18 ปี เป็นครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538

 

มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ รวม 14 พรรค มีจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 391 คน ตามเกณฑ์คำนวณที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคชาติไทย มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด จำนวน 92 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่สอง จำนวน 86 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าพรรคชาติไทยเพียง 9 ที่นั่ง 

 

ภายหลังการเลือกตั้งพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งหมด 233 คน โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ มีมติเลือก "นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ" ส.ส.จังหวัดสุพรรณบุรี จากพรรคชาติไทย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย

 

และสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ "นายบรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2538

 

บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี

 

นายบรรหาร บริหารราชการแผ่นดินอยู่ได้เพียงประมาณ 1 ปี ก็ต้องประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน เพราะถูกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ 

   

เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง พรรคร่วมรัฐบาลยื่นข้อเสนอขอให้ "นาย บรรหาร" ลาออกจากตำแหน่งแต่ "นายบรรหาร" เลือกใช้วิธีการยุบสภาผู้แทนราษฎร แทนการลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2539

 

แม้บรรยากาศทางการเมืองในยุคนี้ จะเต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบเพื่ออำนาจในการบริหารประเทศกันอย่างหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล "นายชวน" แต่ในช่วงเวลานี้กลับเกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้ถูกใจคนไทยทุกเพศทุกวัย 

 

พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี

 

โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนเป็นรูปเป็นร่าง ส่งผ่านจากรัฐบาลนายบรรหาร ต่อไปยังรัฐบาล "พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ" และมาถึงรัฐบาล "นายชวน" เป็นสมัยที่ 2 จึงสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ซึ่งหลายคนชื่นชมว่า "เป็นรัฐธรรมนูญดีที่สุด" มีจำนวน 336 มาตรา และใช้สืบต่อมาถึงในคณะรัฐบาลภายใต้การนำของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"(ยศขณะนั้น)

 

พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน / ทักษิณ ชินวัตร

 

แต่ในที่สุดรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันร่างก็ถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งชาติที่นิวยอร์กสหรัฐอเมริกา 

 

"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"ภายใต้ "ท็อปบู๊ต"สืบทอดต่อเนื่องถึงปัจจุบันEP.15

 

การนำกำลังทหารและกองทัพเข้ายึดอำนาจบริหารจากรัฐบาลครั้งนี้ นับเป็นการก่อรัฐประหารหลังจากว่างเว้นไปในรอบ 15 ปี และเกิดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมาหลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนปีนั้น ถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ โดยถูกระบุว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สาเหตุมาจากพรรคไทยรักไทย ได้ว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก ให้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น จึงมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จำนวน 111 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี และถือเป็นการปิดฉากของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 รวมเวลามีผลบังคับใช้ 8 ปี 11 เดือนกับอีก 8 วัน 


ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์ จาก Google 

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ