ข่าว

ศบค.ชุดเล็ก เน้นย้ำมาตรการ สกัดกั้น “โอไมครอน” ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศบค.ชุดเล็ก เน้นย้ำมาตรการ รับนักท่องเที่ยว เฉพาะมีการกักตัวตัวเท่านั้น วอนทุกหน่วยงานเข้มงวดเป็นพิเศษ เร่งสกัดกั้น “โอไมครอน” ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง

พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาด "โอไมครอน" ทั่วโลก แพร่กระจายไปแล้ว 95 ประเทศ  ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยอยู่ที่ 104 ราย โดยอยู่ทั้งในระบบการรักษาและบางส่วนได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

 

โดยมติศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวานนี้เกี่ยวกับเรื่องการรับนักท่องเที่ยวเข้าราชอาณาจักรในช่วงที่มีการระบาดโอไมครอน ซึ่งกลุ่มแรกที่จะเข้ามาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.เป็นต้นไป จะงดรับการลงทะเบียน Thailand pass ในการเข้าประเทศแบบ Test and go และ Sandbox โดยยังอนุญาตให้เข้าได้แบบที่ต้องมีการกักตัวเท่านั้น และการเข้า Sandbox สามารถเข้าได้ที่ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เท่านั้น และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ลงทะเบียนเพื่อเข้ามาในประเทศก่อนหน้านี้ซึ่งกระทรวงต่างประเทศโดยกรมการกงสุลได้มีการรายงานจำนวนอีก 200,000 คน ซึ่งยังสามารถเข้ามาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดแต่เดิม

แต่ที่ประชุมเมื่อวานนี้ได้มีข้อมติว่าคนกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาถึงแล้วต้องมีการปรับเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย โดยมาตรการที่เพิ่มขึ้นคือ คนกลุ่มนี้เมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วและตรวจ RT-PCR เป็นลบสามารถเดินทางต่อได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอดเวลาเพื่อติดตามอาการและต้องแจ้งได้ด้วยว่าอยู่ที่ใด โดยเน้นย้ำว่าต้องมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะทุกคน และที่สำคัญ คือ ต้องกลับมาตรวจ RT-PCR ซ้ำในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 ก่อนจะครบเจ็ดวัน โดยจะต้องตรวจที่โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งที่สองรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจให้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทางศบค.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะมีการปรับมาตรการหรือไม่อย่างไรจะมีการประเมินสถานการณ์และพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 4 ม.ค.65

 

ซึ่งที่เคยมีการรายงานช่วงก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวที่หลุดจากระบบการติดตามออกไป จากนี้ต้องขอให้ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยว, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงการต่างประเทศ, การบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการพยายามสกัดกั้นไม่ให้สายพันธุ์ "โอไมครอน" ระบาดเป็นวงกว้าง หรือหากมีการระบาดในประเทศก็ขอให้เป็นการระบาดอย่างน้อยที่สุด ถ้าเจอจะได้สามารถควบคุมและจำกัดวงการระบาดได้โดยไว

ซึ่งที่ ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานตัวเลขคร่าวๆของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิวันนี้อยู่ที่ประมาณ 10,787 คน ที่ภูเก็ตอีกประมาณ 2,546 คน โดยในที่ประชุม นำโดยพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ได้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อตรวจสอบจำนวนผู้เดินทางเข้าท่าอากาศยานทุกช่องทาง ให้มีการติดตามการเดินทางจนกระทั่งเข้าที่พัก และมีการติดตามการตรวจหาเชื้อครั้งที่สองให้ครบทุกราย ในช่วง 7 วันที่เข้ามาในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงสาธารณะสุข, EOC ทุกท่าอากาศยาน, การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงหรือ ศปม. และกระทรวงมหาดไทยในทุกจังหวัดรวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักทุกโรงแรมและโรงพยาบาลคู่ปฎิบัติการที่คู่กับโรงแรมทุกโรงพยาบาล

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ชุด เล็กมีการเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้วางไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนการปรับมาตรการสำหรับคนไทยในช่วงนี้ คือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐห้ามลาไปต่างประเทศยกเว้นมีเหตุจำเป็น,  คนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาชะลอหรือยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการเดินทางไปในประเทศทางยุโรป, อเมริกา และตะวันออกกลางที่มีการแพร่ระบาดโอไมครอนจำนวนมาก ขอให้มีการตรวจ ATK ในทุกช่องทางก่อนเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้เวลานานและมีคนแออัด, รวมถึงเน้นย้ำมาตรการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งมาตรการการกลับภูมิลำเนาและมาตรการในการกลับเข้าที่ทำงาน คือ ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านและตรวจเมื่อกลับมาทำงานเพื่อความปลอดภัยของครอบครัวและในที่ทำงาน

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันว่าหลังจากเทศกาลปีใหม่ขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐให้เจ้าหน้าที่ work from home ให้ได้มากที่สุดในช่วงแรกหลังจากที่หยุดเทศกาลปีใหม่ก่อน เพื่อจะจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ

logoline