
"ปีใหม่2565" วอนประชาชนไม่โอบกอด-เว้นระยะห่างป้องกันโควิด19ระบาด
กรมอนามัยแนะ "ปีใหม่2565" ประชาชนงดโอบกอด-เว้นระยะห่าง กางผลโพล 5 กิจกรรมประชาชนกังวลมากที่สุดอันดับ 1 กลุ่มสถานบันเทิง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวครอบครัวปลอดภัย ต้อนรับปีใหม่ ปลอดโควิด-19 ว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยระบุว่า ในช่วงเทศกาล "ปีใหม่2565" จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสธ.จึงมีข้อห่วงใยในการป้องกันตัวเองเพื่อให้เทศกาลปีใหม่เป็นปีแห่งความปลอดภัย
ผลสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1-20 ธ.ค.64 พบประชาชน 82% ยังมีความกังวลใจว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 อีก 70% เห็นว่าเป็นช่วงที่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดใหม่ได้ และกลัวว่าจะมีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศด้วย
ส่วนกิจกรรมที่กังวล 5 อันดับแรก ได้แก่
1.การรวมกลุ่มในสถานประกอบกิจการหรือกิจกรรมต่างๆ 67%
2.การเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัว
3.การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ 58%
4.การเดินทางมาจากต่างประเทศ 56%
5.การลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย 51%
สถานที่เสี่ยงเกิดการแพร่ระบาด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ 64.49% เพราะที่ผ่านมาถึงยังไม่อนุญาตก็มีการลักลอบเปิด
2.สถานที่ท่องเที่ยว 59.76%
3.ตลาด 48.02%
4.ห้างสรรพสินค้า 44.86% และ
5.ขนส่งสาธารณะ 44.04%
จากการสำรวจพบประชาชนมีแผนฉลอง "ปีใหม่2565" ที่บ้าน 84.35% ฉลองที่ร้านอาหาร 17.01% ร่วมกิจกรรมสถานที่ท่องเที่ยว 16.46% ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการจัดที่บ้านขอให้จัดในสถานที่เปิดโล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสัมผัส โอบกอด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มเปราะบาง ขอให้รับประทานอาหารปรุงสุก มีภาชนะอุปกรณ์ส่วนตัว เว้นระยะห่าง หากมีกลุ่มเสี่ยงขอให้ลดการรวมกลุ่ม และยังคงสวมหน้ากากอนามัย ส่วนผู้ที่จะร่วมกิจกรรมปีใหม่ตามสถานที่ต่างๆ นั้นขอให้เลือกสถานที่ที่มีการประเมินและได้รับการรับรองมาตรการ Covid-19 Free Setting หรือ SHA PLUS การจัดที่สถานที่เปิดโล่ง เลี่ยงกรณีมีคนมาก แออัด และย้ำว่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มดื่มสุรา ปฏิบัติตามกฎของสถานที่นั้นๆ
อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงาน หรือผู้ร่วมงานจะต้องรับวัคซีนให้ครบถ้วน ประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงไปเจอคนที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ มีไข้ โรคระบบทางเดินหายใจหรือไม่ หากมีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK เลี่ยงการร่วมกิจกรรม สังเกตตัวเองเป็นระยะเวลา 7 วัน เมื่อกลับเข้าระบบการทำงานหลังปีใหม่ต้องประเมินความเสี่ยงก่อนกลับเข้าทำงาน หากเสี่ยงให้ตรวจ ATK ตามความเสี่ยง และพิจารณามาตรการตามความเหมาะสมขององค์กรได้