ข่าว

ย้อนรอย 89 ปีรธน.ไทย “รัฐประหารกระชับอำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 EP.11 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ห้วงเวลาที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องเผชิญวิกฤตศก. ทำให้พรรคฝ่ายค้าน นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจจากสถานการณ์น้ำมันแพง เป็นจุดเปลี่ยนการเมืองอีกครั้ง ติดตามในตอน รัฐประหารกระชับอำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 EP.11

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

"นายธานินทร์ กรัยวิเชียร"เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย "พลเรือเอก สงัด ชลออยู่" ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ "หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช" เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว "ม.ร.ว. เสนีย์" จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง

 

ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช
 
ขณะที่บริหารประเทศของ "นายธานินทร์" ได้ไม่ทันข้ามปี ก็กลับถูกคณะปฏิวัติของ "พล.ร.อ.สงัด" ที่เป็นคนเชิญ "นายธานินทร์"รับตำแหน่ง ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ"นายธานินทร์"เสียเอง จนถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจ โดยอ้างภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์
 
ย้อนรอย 89 ปีรธน.ไทย  “รัฐประหารกระชับอำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 EP.11 
 

และผลจากการยึดอำนาจ ทำให้ต้องยกเลิก"รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519"ที่ใช้อยู่ขณะนั้น และมาใช้"รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520" และได้ตั้งสภานโยบายแห่งชาติขึ้นตามมาตรา 17, 18 และ 19 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า ให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลในคณะปฎิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 6 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2520 เป็นสมาชิก
 

 

รวมทั้งยังกำหนดไว้อีกว่า ให้หัวหน้าคณะปฏิวัติ ทำหน้าที่ประธานสภา และรองหัวหน้าคณะปฏิวัติทำหน้าที่รองประธานสภา และให้สภาแต่งตั้งสมาชิกสภาเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการตามลำดับ และได้ระบุไว้อีกว่า ถ้าประธานสภาไม่อยู่ ให้รองประธานสภาทำหน้าที่แทน ประธานสภา และถ้าประธานสภาและรองประธานสภาไม่อยู่ ให้เลือกสมาชิก 1 คน ขึ้นมาทำหน้าที่แทนประธานสภา

 

สภานี้มีหน้าที่กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ และให้ความคิดเห็นแก่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินไปตามนโยบายแห่งรัฐ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และสภานโยบายแห่งชาตินี้ ได้สิ้นสุดลง พร้อมกับการสิ้นสุดของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 1 เดือน 13 วัน มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 32 มาตรา

 

ย้อนรอย 89 ปีรธน.ไทย  “รัฐประหารกระชับอำนาจ” ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 EP.11 
 
จนกระทั่งถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 จึงมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2521 แทน และได้แต่งตั้ง "พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์" ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ทำให้อำนาจกลับมาอยู่ในวงการทหารบกอีกครั้ง
 

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 แล้ว รัฐบาล"พล.อ.เกรียงศักดิ์" ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เคารพสิทธิมนุษยชน อันเนื่องจากมีกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 กำหนดให้บรรดาผู้ที่เกิดในประเทศไทย ที่มีพ่อแม่เป็นชาวต่างด้าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยมาแต่กำเนิด ก่อนจะใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น ต้องลงทะเบียนก่อน และกำหนดให้ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

 

ผลของการเลือกตั้งที่ถูกปรามาสว่า"แห้งแล้ง" กลับสร้างปรากฏการณ์และความแปลกใจ เพราะว่า พรรคประชากรไทย ที่เพิ่งมีการก่อตั้งขึ้นมาโดยนายสมัคร สุนทรเวช ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของพรรค โดยสามารถได้รับเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ถึง 29 ที่นั่ง จากทั้งหมด 32 ที่นั่ง โดยเหลือให้แก่ พันเอกถนัด คอมันตร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ , ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคม ได้รับเลือกเพียง 3 ที่นั่งเท่านั้น 

 

สมัคร สุนทรเวช

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์

ในขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ พรรคกิจสังคม ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 88 ที่นั่ง ขณะที่ผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ได้ทั้งสิ้น 63 ที่นั่ง จากทั้งเสียงหมดในสภาผู้แทนราษฎร 301 เสียง จึงไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง ทุกพรรคจึงมีมติสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2522  ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ "พล.อ.เกรียงศักดิ์"ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นสมัยที่ 2

 

ทั้งนี้เพราะวุฒิสมาชิกซึ่งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีส่วนในการกำหนดผู้ที่จะเป็นรัฐบาลด้วย และวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้ง ก็ล้วนมาจากกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อขึ้นมานั่นเอง
 

ขณะที่การบริหารประเทศภายใต้ระบบรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 301 คน มาจากการเลือกตั้ง มีส่วนในการควบคุมรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ยังดำเนินไปได้ไม่ครบปี "พล.อ.เกรียงศักดิ์" ซึ่งเกษียณจากการเป็นทหารประจำการแล้ว ก็ต้องเผชิญกับมรสุมการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องมาจากน้ำมันที่ขึ้นราคา จนถูกกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 5 พรรค นำโดย "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" หัวหน้าพรรคกิจสังคม ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กำหนดจะเปิดอภิปรายในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 แต่ "พล.อ.เกรียงศักดิ์" ได้ประกาศลาออกเสียก่อนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 กลางที่ประชุมรัฐสภา

 

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
 

เมื่อ"พลเอก เกรียงศักดิ์"ลาออกแล้ว จึงมีการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้เลือก "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ผู้บัญชาการทหารบกและหนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครอง เป็นนายกรัฐมนตรีต่อด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 


ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์
 

 

logoline