รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า เมื่อวาน (17 ธ.ค.64) ทั่วโลกติดเพิ่ม 694,939 คน ตายเพิ่ม 6,616 คน รวมแล้วติดไปรวม 273,916,442 คน เสียชีวิตรวม 5,359,878 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.4 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.92
ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้น คิดเป็นร้อยละ 59.53 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 56.93 เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย หมอธีระ ระบุว่า เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 3,537 คน สูงเป็นอันดับ 32 ของโลก หากรวม ATK อีก 1,080 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 25 ของโลกยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย
ส่วนสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" เดนมาร์กรายงานจำนวนติดเชื้อล่าสุดเมื่อวานนี้ ทำลายสถิติอีกครั้ง สูงถึง 11,194 คน ถือว่ามากกว่าปลายปีที่แล้วถึง 2.48 เท่า
เมื่อวานสหราชอาณาจักรมีการติดเชื้อเพิ่มทำลายสถิติอีกครั้ง สูงถึง 93,045 คน โดยที่มีอัตราการตรวจพบเป็นสายพันธุ์ "โอไมครอน" สูงถึงร้อยละ 54.2 ทั้งนี้เฉพาะในลอนดอน มีอัตราการตรวจพบ "โอไมครอน" สูงถึงราวร้อยละ 80
งานวิจัยจาก Imperial College พบว่า จากการติดตามจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลของสหราชอาณาจักร ความรุนแรงของโรคจาก "โอไมครอน" ดูจะไม่ได้แตกต่างจากเดลตา ทั้งนี้คงต้องมีการติดตามต่อไป เพื่อทำการประเมินให้ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ล่าสุด รายงานประเมินความเสี่ยงของ "โอไมครอน" โดย UK HSA (Technical briefing ฉบับที่ 32) มีสาระสำคัญ ดังนี้
- "โอไมครอน" จะทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อกันในครัวเรือน (Household transmission) มากกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 2.9 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 2.4-3.5 เท่า)
- จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าลักษณะการติดเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" ในสหราชอาณาจักรนั้น มีถึงร้อยละ 47.8 ที่ติดจากผู้ติดเชื้อที่อยู่นอกครัวเรือน ในขณะที่สายพันธุ์เดลตานั้น มีลักษณะการติดเชื้อจากคนภายนอกครัวเรือนเพียงร้อยละ 19.8 ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะการติดเชื้อแพร่เชื้อของ "โอไมครอน" นั้นแตกต่างจากเดลตาเดิม และอาจต้องนำไปพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมป้องกันโรคให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ด้วยข้อมูลสถานการณ์ระบาดของ "โอไมครอน" ทั่วโลก จะพบว่า นี่เป็นภัยคุกคามที่รุนแรง ทั้งในเชิงอัตราการแพร่ที่รวดเร็วกว่าเดิม ติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ทั้งจากวัคซีนและจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน รวมถึงการดื้อต่อการรักษาด้วยโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิด
ต่อให้ความรุนแรงของสายพันธุ์นี้จะเท่าเดลตา หรือจะน้อยกว่าเดลตา แต่จำนวนการติดเชื้อใหม่ที่จะปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้มีคนเจ็บป่วยได้มาก เราจึงเห็นปฏิกิริยาตอบสนองเชิงนโยบาย และมาตรการควบคุมป้องกันโรคจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่เน้นเรื่องความเข้มงวด เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แม้กระทั่งประเทศที่เคยประกาศจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ก็ไม่เว้น
ยืนยันอีกครั้งด้วยหลักฐานวิชาการต่าง ๆ ว่า "โควิด-19 ไม่กระจอก"
บทเรียนจากวาทกรรมก็แค่ไข้หวัดธรรมดา ไวรัสกระจอก เอาอยู่ เพียงพอ รับมือได้ เป็นดังที่เราเห็นในรอบปีที่ผ่านมา กว่าสองล้านคนที่ติด กว่าสองหมื่นชีวิตที่สูญเสีย เกิดจากเหตุใด?
ควรทำเช่นไร เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเรา สมาชิกในครอบครัว คนรอบข้างในที่ทำงาน และคนที่เรารู้จักมักจี่ สนิทสนมรักใคร่ชอบพอกันในสังคม
ประชาชนทุกคนควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท มีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ไม่หลงไปกับวาทกรรมที่ไม่ถูกต้อง
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการจัดปาร์ตี้สังสรรค์คริสตมาสและปีใหม่ ฉลองกับคนในบ้านจะปลอดภัยกว่า
ด้วยรักและห่วงใย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง