ข่าว

อยากรู้ "สอนออนไลน์ให้สนุก" 1 ใน 4 กิจกรรมเด่นในงาน มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อยากรู้ "สอนออนไลน์ให้สนุก" ได้อย่างไร 1 ใน 4 กิจกรรมเด่นพบในงาน มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่ ได้ฤกษ์ KICK OFF 22 ธันวาคม นี้ที่มหิดลสิทธาคาร จังหวัดนครปฐม

นับเป็นเวลา 7 ปีแล้วที่ เครือข่ายส่งเสริมสุขภาพในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Asean University Network – Health Promotion Network : AUN - HPN) ได้ก่อตั้งขึ้นมา จนปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสมาชิก 38 แห่งใน 10 ประเทศอาเซียน และญี่ปุ่น

 

โดยมีพันธกิจในการส่งเสริมสุขภาวะให้ประชากรในภูมิภาคฯ มีสุขภาพดีแบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ สติปัญญา และสังคม โดยเริ่มต้นที่จากภายในรั้วมหาวิทยาลัย

 

รศ.ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะเลขาธิการเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-HPN) ว่า ด้วยหลักการ “Whole University” เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ตลอดเวลาที่ผ่านมา AUN-HPN ได้มีความพยายามที่จะผลักดันแนวคิดเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะให้ครอบคลุมทั้งในด้านสุขภาพ (Health) ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being)

 

และความยั่งยืน (Sustainability) สู่การสร้างนโยบายจากในระดับประเทศ สู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ผ่านเครื่องมือการชี้วัด “Healthy University Rating Systems : HURS” ซึ่งกำหนดถึงเกณฑ์ของการมีสุขภาวะที่ดี

 

โดยเป้าหมายของการมีสุขภาวะที่ดีในระดับ 5 ดาวจะต้องมีคะแนนอยู่ในระหว่าง 800 -899 คะแนน ใน 6 หมวด คือ บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด การพนัน ความรุนแรง ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในสถานศึกษา ซึ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา พบว่านักศึกษาและบุคลากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยสมาชิก AUN-HPN มีปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดจากความวิตกกังวลที่เป็นผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการใช้ชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยไม่ได้มีการยืดเหยียดจนเกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ และปัญหาสุขภาพตา ฯลฯ

 

ซึ่งในประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ ในฐานะผู้นำองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบสำหรับมหาวิทยาลัยสมาชิก AUN - HPN

 

โดยเป็นความมุ่งหวังมาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในการที่จะผลิตบัณฑิตโดยไม่มุ่งแต่ความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่จะเสริมสร้างให้บัณฑิตมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ยังได้ริเริ่มนำเอาหลักการ “Happy Workplace” หรือ “องค์กรแห่งความสุข” ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาประยุกต์เป็น “Happy University” หรือ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่ขับเคลื่อนภายใต้ AUN - HPN ต่อไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นแกนนำของ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” กล่าวว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 -14.30 น. มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือของ 6 ส่วนงานนำร่อง ได้แก่ กองทรัพยากรบุคคล สำนักงานอธิการบดี คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ สถาบันโภชนาการ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม]

 

กำหนดจัดงาน มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่ (Healthy Mahidol in New Normal) ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภายใต้หลักการของ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ กาย ใจ สมอง จิตวิญญาณ การศึกษา การเงิน ครอบครัว การมีส่วนร่วมทางสังคม ฯลฯ 

 

ทั้งในรูปแบบ On site และ Online ซึ่งในแบบ On site จะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด

 

สำหรับแบบ Online จะได้มีการถ่ายทอดกิจกรรมผ่าน IPTV สู่ทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่ บางกอกน้อย พญาไท กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ต่อไปอีกด้วย

 

สำหรับกิจกรรมในวันงานแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก ซึ่งกิจกรรมที่ 1 คือ “MU - Healthy Lifestyle” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จะมีการสำรวจสุขภาพกลุ่มนักศึกษา เพื่อค้นหา “ผู้นำมหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่” และ “ผู้นำวิธีคิดที่จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ” 

 

กิจกรรรมที่ 2 คือ “Healthy Body” เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพดีสู่วิถีปกติใหม่ ด้วยกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน “We Mahidol”

 

กิจกรรมที่ 3 คือ “สอนออนไลน์ให้สนุก” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณาจารย์เพื่อพัฒนาการสอนออนไลน์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษา และให้ได้ผลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยจะมีการมอบรางวัลสำหรับอาจารย์ที่สามารถสร้างสรรค์รูปแบบการสอนออนไลน์จนสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปอีกด้วย

 

และ กิจกรรมที่ 4 คือ การรณรงค์ความปลอดภัย “Zero Tolerance Areas” ใน 6 หมวด คือ บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด การพนัน ความรุนแรง ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในสถานศึกษา ตามเกณฑ์ HURS ของ AUN - HPN

 

ผู้ช่วยศาสตราจาย์ ดร.วิลาสินี สุวรรณจ่าง รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสุขภาวะ งบประมาณและการคลัง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนนำที่ร่วมจัดงาน “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่ (Healthy Mahidol in New Normal) ได้เปิดเผยถึงกิจกรรมในส่วนของ “Healthy Body” เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพดีสู่วิถีปกติใหม่ที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมจัดขึ้นดังกล่าวว่า จะเปิดให้นักศึกษาและบุคลากรได้ร่วมทำกิจกรรมด้วยการ “นับระยะก้าว” ตลอดเดือนมกราคม 2565 แล้วส่งผลผ่านแอปพลิเคชัน “We Mahidol” โดยมีการให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ 

 

นอกจากนี้จะจัดให้มีหลักสูตร MU Health Literacy Curriculum สร้างเสริมสุขภาพคนมหิดล เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ และทักษะการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับคนมหิดลต่อไปอีกด้วย

 

ซึ่งงาน “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่ (Healthy Mahidol in New Normal) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 -14.30 น. ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  จังหวัดนครปฐม นี้จะเป็นการ “KICK OFF” เพื่อเปิดตัวกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้มีการวางแผนเอาไว้ดังกล่าวข้างต้น และจะมีการติดตามวัดผลกันอีกทีในเดือนมีนาคม 2565

 

โดยในปี 2565 จะเป็นปีที่ AUN - HPN เดินหน้าอย่างเต็มที่สู่การบรรลุเป้าหมายของการสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน โดยจะมีทั้งการจัดประชุมเครือข่ายเพื่อติดตามความคืบหน้า และการจัดประชุมวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มมหาวิทยาลัยสมาชิกต่อไปอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ