ข่าว

ทำความรู้จัก "ภาวะมิสซี" โรคอุบัติใหม่ในเด็ก เกิดขึ้นหลังหายจากโควิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์โรงพยาบาลรามคำแหง ไขข้อข้องใจ "ภาวะมิสซี" โรคอุบัติใหม่ในเด็ก เกิดขึ้นหลังหายจากโควิด พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง

จากกรณีที่ลูกชายของนักร้องดัง "มอร์ มอร์กะจาย" หรือ มอร์ ธนพัชร์ ต้องเข้ารับการรักษาด่วน หลังผลตรวจพบป่วยด้วยโรคอุบัติใหม่ผลต่อเนื่องจากโควิด-19 หรือเรียกอีกอย่างว่า "ภาวะมิสซี" (MIS-C) ในเด็ก ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หลายคนเกิดความสงสัย ว่า "ภาวะมิสซี" เป็นอย่างไร แล้วอาการรุนแรงหรือไม่ "คมชัดลึกออนไลน์" ได้นำข้อมูลมานำเสนอ เพื่อไขข้อข้องใจ

 

 

ทำความรู้จัก "ภาวะมิสซี" 

 

ภาวะมิสซี ในเด็ก เกิดจากระบบร่างกายผิดปกติ หลังติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าเด็กจะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 น้อย หรือติดแล้วมีอาการไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่หลังจากหายป่วยโควิด-19 แล้ว กลับพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อย เกิดอาการอักเสบหลายระบบหรือในทางการแพทย์ เรียกว่า Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) MIS-C หรือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก เป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิด-19 แล้วเกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย จากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู และอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะมิสซีเกิดจากอะไร 

 

ภาวะมิสซี (MIS-C) เกิดจากการตอบสนองภูมิคุ้มกันของร่างกายของเราเองต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการอับเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย ภาวะมิสซี ส่วนใหญ่ มักจะเกิดตามหลังการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่คนไข้ระยะที่ใกล้จะหายจากโควิด-19 หรืออาจจะเกิดตามมา ภายใน 2-6 สัปดาห์หลังการติดเชื้อโควิด-19 ภาวะนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก หรืออาจจะเกิดในหลาย ๆ ระบบพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบผิวหนัง และเยื่อบุ ทำให้เกิดเป็นผื่นตามมา หรือระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย  

 

ทั้งนี้ ภาวะมิสซี อาจมีผลกระทบต่อระบบหายใจได้แต่ค่อนข้างน้อย ซึ่งจะแยกกันกับโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจโดยตรง เนื่องจากภาวะมิสซี คนไข้ส่วนมากไม่ได้มาจากอาการ ไอ จาม หรือ มีน้ำมูก เหมือนโรคโควิด-19 แต่อาจจะมีอาการเหนื่อยได้ ซึ่งเป็นผลจากหัวใจมากกว่า  

อาการของภาวะมิสซี ก่อน - กลาง - หลัง แตกต่างกันหรือไม่

 

 ระยะเริ่มต้นของคนไข้ภาวะมิสซี บางคนอาจมาด้วยอาการ มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย ทำให้คิดว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้ โดยส่วนมากการดำเนินโรคค่อนข้างเร็วไม่เกิน 1 สัปดาห์ จากนั้น จะมีอาการหลายระบบขึ้นมาให้เราเห็น เช่น เริ่มมีผื่น ตาแดง หายใจเหนื่อย หรือในเด็กบางรายอาจมีอาการช็อคได้

 

ด้วยความที่ภาวะมิสซี มีความใกล้เคียงกับโรคคาวาซากิ แต่มีข้อแตกต่าง เนื่องจากโรคคาวาซากิมักจะเกิดในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนภาวะมิสซี มักเกิดในเด็กอายุเฉลี่ย 8-11 ปีขึ้นไป โดยจะพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร และการทำงานผิดปกติของหัวใจได้มากกว่า มีโอกาสช็อกได้มากกว่า แสดงอาการรุนแรงกว่า หากมีอาการควรพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า คนไข้อยู่ในภาวะมิสซี หรือโรคคาวาซากิ โดยผ่านการตรวจเลือด อัลตร้าซาวนด์หัวใจ เพื่อเป็นการแยกโรคให้ชัดเจน   

 

 

ภาวะมิสซี เป็นโรคติดเชื้อหรือไม่ 

 

ภาวะมิสซี ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เป็นภาวะที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติไป จึงไม่ถือว่าเป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันไม่มีปัจจัยการกระตุ้นที่ชัดเจน นอกเหนือจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน โดยพบได้มากในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

 

 

 

ที่มา : พญ.ตวงพร ตุรงค์สมบูรณ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามคำแหง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ