ข่าว

ปธ.ศาลอุทธรณ์ แจง สมาคมทนายฟ้อง "นายกฯ" 157เป็นอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธานศาลอุทธรณ์ชี้เขตอำนาจศาลคดีสมาคมทนายนำทีมฟ้อง "นายกฯ" 157 บริหารวัคซีนโควิดผิดพลาดเป็นอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง นายกสมาคมออกเเถลงยังเดินหน้าเตรียมนำเรื่องยื่น ปปช.

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 64 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่าตามที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้รับการประสานจากพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งรวบรวมชื่อประชาชนจำนวนประมาณ 700,000 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยไม่สามารถควบคุม ป้องกันโรค และให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
 
สมาคมฯ ได้รับเป็นทนายความให้โดยได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลตรวจฟ้องแล้วเห็นว่าเป็นการฟ้องนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น
 
ด้วยความเคารพต่อความเห็นของประธานศาลอุทธรณ์ แต่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เฉพาะกรณีที่ความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นกับรัฐในภาพรวม เช่น การทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือการใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อันมีลักษณะเป็นความผิดต่อรัฐที่รัฐเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้ 
 

แต่หากผลการกระทำความผิดต่อรัฐดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายด้วย ประชาชนย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องบุคคลดังกล่าวที่ทำให้ตนได้รับความเสียหายได้ โดยเทียบเคียงกับคดีอาญาทั่วไปที่แม้จะเป็นความผิดต่อรัฐ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองได้โดยไม่จำเป็นต้องให้พนักงานอัยการเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องคดี 
 
สำหรับคดีนี้ แม้จะเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ผลของความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นกับรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิต ประชาชนที่ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 194 และเทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาฎีกา (ประชุมใหญ่) ที่ 5673/2562 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วย่อมถึงที่สุดตามกฎหมาย สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอน้อมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวและขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่ไม่อาจใช้สิทธิของตนทางศาลต่อไปได้ หากประชาชนที่ได้รับความเสียหายยังประสงค์จะดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีต่อไปจะต้องไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) เพื่อให้ ป.ป.ช. ไต่สวนซึ่งหาก ป.ป.ช. เห็นว่ามีมูลก็จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง ทั้งนี้ สมาคมยินดีที่จะร่วมมือกับพรรคไทยสร้างไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ประสงค์จะดำเนินคดีโดยผ่านช่องทางของ ป.ป.ช. ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลางอาศัยอำนาจตามพรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 11 เห็นควรส่งสำนวนในชั้นตรวจฟ้องนี้ให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ และรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวก่อน

ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตฯอ่านคำสั่งนายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ระบุว่า  พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ทั้งแปดฟ้องจำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจำเลยไม่สามารถจัดหาสถานที่รองรับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับสิทธิในการรักษามีผู้เสียชีวิตระบบสาธารณสุขของประเทศล้มเหลวเกิดความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศนอกจากนี้จำเลยยังร่วมกับคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวสำหรับบริการประชาชนอันเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดเพราะวัคซีนมีประสิทธิผลในการสร้างภูมิคุ้มกันการอนุมัติสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวเพิ่มเติมจึงไม่สามารถป้องกันโรคจำเลยทราบดี แต่กลับดำเนินการอนุมัติโดยใช้เงินงบประมาณสูงถึง 6,111,420,000 บาทการกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดและประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวและเป็นการอนุมัติสั่งซื้อโดยมีเจตนาทุจริตและจำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,165 

คดีของโจทก์ทั้งแปดจึงเป็นการฟ้องนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 เป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดย พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560มาตรา 10(1) 
บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายประกอบกับพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 5 ยังได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษาอันสอดคล้องกับพรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (1) ที่กำหนดว่า“ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” มิให้รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามความในมาตรา 7 วินิจฉัยว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ