ข่าว

"ศรีสุวรรณ" จัดให้ร้องผู้ตรวจฯส่งศาลรธน.ตีความปมนิรโทษกรรมนักโทษคดีโกง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศรีสุวรรณ จรรยา ตอบรับเสียงเรียกร้อง "คัดค้านนิรโทษกรรมนักโทษคดีโกง" เตรียมยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

 

ความคืบหน้าเครือข่ายภาคประชาชน รวมไปถึง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เร่งรบทวน หลักเกณฑ์ การลดวันคุมขัง นักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชั่น  จนทำให้มีข้อเสนอจากนักวิชาการ  อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในหลายแนวทาง  หนึ่งในประเด็นการหาทางออกดังกล่าว คือ การส่งเรืองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

 

ล่าสุด  นายศรีสุวรรณ  จรรยา   เปิดเผยว่า   ในวันพุธที่ 15 ธ.ค.64 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และขัดแย้งกันนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63 หรือไม่ อันเนื่องมาจากเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ 256 โดยนัดหมายสื่อมวลชน พบกัน ณ ห้อง 502 ชั้น 5 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B
 

 

ก่อนหน้านี้  นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน FM101  ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะกว่าจะตัดสินคนที่ทำผิดต้องตรวจสอบ ไต่สวน สืบสวนนานหลายปี เพื่อไม่ให้กล่าวหาใส่ร้ายคนที่สุจริต 

 

ทั้งนี้ ต้องรู้ธรรมชาติของคนเกเร หากไม่จำนนด้วยหลักฐานจะมีช่องทางหาทางออกไปเรื่อย ต้นเหตุมาจากการบริหารโทษ ไม่ว่าบริหารอะไร ไม่ใช่ทำตามใจชอบต้องทำให้ถูกกฎหมาย จึงอ้างกฎหมาย และระเบียบ การบริหารกิจการใดไม่ใช่เอากฎหมายอย่างเดียว แน่นอนต้องไม่ผิดกฎหมายเป็นสำคัญ พวกฉลาดทำถูกกฎหมาย แต่ระบบคุ้มครองสังคมต้องดูต่อไปว่า ฝ่าฝืนสำนึกของสุจริตของสังคมหรือไม่ มีที่ไหนในโลก จำคุกมา 4 ปี 4เดือน ขออภัยโทษให้ 4 รอบ

 

นายจรัญ  กล่าวด้วยว่า การยกร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษไม่ต้องโทษหน่วยงาน เพราะรัฐมนตรีเป็นคนยกร่าง เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ความเห็นชอบ แต่ยอมรับว่า ครม. ต้องพิจารณาเป็นร้อยเรื่อง พิจารณาแบบไฟลนก้น เมื่อพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะปล่อยคนจน คนยาก เป็นทานบารมี แต่กรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ คือนำพระราชอำนาจมาใช้ ควรตรวจสอบรายละเอียดไม่ใช่ ขอเป็นการทั่วไป และต้องกลั่นกรอง และตรวจสอบในเหตุผลที่สมควร

 

"คดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองที่ทำลายประเทศมากกว่าคดียาเสพติด และทำให้ประชาชนทุกยากแสนเข็ญมากกว่า  ดังนั้นคดีทุจริต คอร์รัปชันต้องเคร่งครัดมากกว่าคดียาเสพติดที่มีเงื่อนไข อย่างคดียาเสพติดยังมีการขอรอบเว้นรอบ แต่คดีทุจริตนี้นี้ทุกรอบ คนที่โกงและจับได้ชัด ๆ มีโทษจำคุก 50 ปี แต่ลดเหลือ 6 ปี 10 ปี แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร"

 

"หากเป็นการบริหารไม่ใช่ good governance แบบนี้เป็น bad governance แบบนี้ต้องแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่คนแย่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกันหมด อย่างไรก็ดี ผมมองว่าเรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมต้องดูแล เพราะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการรัฐประหารต้องดูแลประเทศ" นายจรัญ กล่าว

 

ทั้งนี้ นายจรัญ เสนอแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวมีช่องทางที่ทำได้ คือ ใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63

 

โดยกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องรับ เพราะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 175 และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริงจะถูกตีตก  แต่กรณีดังกล่าวหาใช้ตามช่องทางและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างไรต้องเคารพในอิสระและความเป็นกลางของสถาบันตุลาการของชาติ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ