ข่าว

นายกฯรับลูกทบทวนลดโทษทุจริต-สมศักดิ์ ถามแกนนำม็อบ ไม่ลดโทษเอาด้วยหรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯขอเวลาศึกษา "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" พร้อมสั่งทบทวนนิรโทษกรรมนักโทษคดีทุจริต ด้านสมศักดิ์ พร้อมทำตามแนวทางนายกฯ เคลียร์ปมลดโทษคดีทุจริต ถามกลับ แกนนำม็อบหากไม่ลดโทษเอาด้วยหรือไม่ เหตุเป็นกลุ่มคดีอาญาร้ายแรงเหมือนกัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น แถลงการณ์คัดค้านลดโทษผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชั่น เพราะเป็นการสร้างความเสียหายมหาศาลให้เศรษฐกิจประเทศ ว่า วันนี้ต้องเอามาทบทวน หลายวันที่ผ่านมาที่ตนเองไม่ได้พูดเรื่องนี้ เพราะว่าต้องศึกษารายละเอียดหลายอย่าง หลายเรื่อง บางอย่างเป็นเรื่องของกฎระเบียบของกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ที่มีตรงนี้อยู่

 

อีกอันคือเรื่องของ "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับการคัดกรองตรงนี้ เดี๋ยวกำลังทบทวนต้องศึกษาดูว่ามีอะไรที่ไม่เหมาะสมอยู่ตรงนี้ บางทีเรื่องเก่าที่กำหนดไว้ บางทีมันไม่ชัดเจนความผิดความเสียหายมากน้อยอย่างไร เราต้องดูตรงนี้ มันคือเรื่องความทุจริต แล้วมันก็เข้าเกณฑ์ของเขาเมื่อเขาเสนอไปอย่างนั้น ก็ต้องไปดูว่าเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้มันเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ใหม่

 

ปีหนึ่งมีการนิรโทษ อย่างปีที่ผ่านมาปีหนึ่งมีสองครั้ง เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่าทำอย่างไร เช่น บางกรณีมีความแตกต่าง มีผลเสียที่แตกต่างกัน เราจะทำอย่างไร ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบตรงนั้นในเรื่องของ พ.ร.บ.ต้องมีการแก้ไขบ้าง แต่ยืนยันว่าต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งให้เกิดปัญหา เกิดความวุ่นวายขึ้นเลยในตอนนี้ทุกอย่างมันมีกฏระเบียบทั้งสิ้น ผมก็เอามาศึกษาหลายตัวด้วยกัน มีทั้งนักโทษชั้นดี นักโทษชั้นเยี่ยม ลดเท่าไหร่ เท่านั้น เท่านี้ ในหนึ่งปีก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าถ้ามีนิรโทษแล้วจะให้กี่ครั้ง ไม่ได้เขียนตรงนี้ไว้เลย ก็ต้องมาทบทวนใหม่ทั้งหมด สถานการณ์มันเปลี่ยนแล้วใช่ไหม กฎหมายคือสิ่งสำคัญ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การเสนออภัยโทษให้ผู้ต้องขังในคดีทุจริต ว่า ต้องขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ชี้แนะให้ทุกฝ่ายทำการบ้านให้มากขึ้น รวมถึงให้ดูความพอดีเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางออกที่ดีที่สุดของการทำเดินการ ทั้งนี้การลดโทษมีทั้งผู้ที่ได้และไม่ได้ประโยชน์จากพ.ร.ฎ.อภัยโทษ โดยขอเน้นไปที่กลุ่มคดีอาญาไม่ร้ายแรงและกลุ่มคดีอาญาร้ายแรง คือ บุคคลที่ทำผิดต่อหน้าที่ หรือทำผิดต่อเจ้าหน้าที่ คดีข่มขืน คดีฆ่าคน รวมทั้งคดีโครงการทุจริตจำนำข้าว ถึงแม้จะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมก็จะได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 ซึ่งมีการดำเนินการเป็นกลุ่มๆ ในพ.ร.ฎ.อภัยโทษ

 

ฉะนั้นการปรับแก้ในแนวทางต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อคนกลุ่มนั้น เช่น การฆ่า การทุจริต หรือโทษที่กระทำกับเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ หากจะแก้ต้องแก้กันหมด

นายกรัฐมนตรี ได้มีการชี้แนะไปแล้ว ถือเป็นทางออกอย่างดียิ่ง เช่น คนที่ได้รับโทษจากคดีจำนำข้าวได้รับการลดหย่อนโทษไปหลายครั้ง และก่อนหน้าก็ไม่มีการเตรียมปรับแก้อะไรเพราะไม่มีใครทวงถามซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษแต่ละครั้งเป็นความลับ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รู้อะไรกันมากมาย ดังนั้นถ้าจะปรับแก้ทั้งหมดจะกระทบกับคนหลายกลุ่ม สุดท้ายหากจะมีการแก้ไขต้องให้ผู้ที่มีความรู้มาช่วยกันคิดเพื่อหาทางออกร่วมกัน "พ.ร.ฎ.อภัยโทษ" มีตั้งแต่ปี 2459 มีมาทั้งหมด 52 ครั้ง เป็นเวลา 105 ปี นายสมศักดิ์ กล่าว

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะทำตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี และขอย้ำว่าหากเราแก้ในคดีอาญาร้ายแรง ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากปรับทั้งหมดคิดว่าจะกระทบ เช่น กลุ่มเดินขบวน จะเอาด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะต้องปรับไปทั้งกลุ่มตามข้อเสนอ

 

เมื่อถามว่า หากมีการปรับแก้เรื่องดังกล่าวนี้ จะกระทบกับผู้ชุมนุมหมายความว่าอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การชุมนุมหากมีความผิด ก็เหมือนกับเป็นความผิดอาญาร้ายแรง ซึ่งก็จะได้ลดโทษ 1 ใน 3 เช่นเดียวกัน จะไปเอา 1 ใน 5 ทั้งกลุ่มหรือไม่ หรือจะแยกต่างหากก็ไปว่ากัน

 

ผู้รู้ทางกฎหมายต้องไปศึกษาว่าจะเอาอย่างไร ผมรับได้ทั้งนั้น ผมไม่อยากจะช่วย คนที่ทุจริตต่อหน้าที่ เดิมมันเป็นไปตามกรอบแนวปฏิบัติอยู่ นายสมศักดิ์ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ