ข่าว

รัฐธรรมนูญฉบับ”สั้นที่สุด”…แต่มีอำนาจ(เผด็จการ)สูงสุด EP.6

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย 89 ปีรธน. เดินทางมาถึงรธน.ฉบับสำคัญ ซึ่งทำให้คณะปฏิวัติ”มีอำนาจ”เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จโดย”จอมพลสฤษดิ์” ผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ และเป็นผู้บัญชาการสูงสุด รวบอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไว้ทั้งหมด ติดตามได้EP.6

รัฐธรรมนูญฉบับ”สั้นที่สุด”…แต่มีอำนาจ(เผด็จการ)สูงสุด EP.6

มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ระบุไว้ว่า ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่ "นายกรัฐมนตรี"เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้"นายกรัฐมนตรี" โดย "มติของคณะรัฐมนตรี" มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้น "เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"

 

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ

 

นี่เป็นหนึ่งบทบัญญัติใน 20 มาตรา ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ที่หลังก่อรัฐประหาร "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์"  ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 และได้นำธรรมนูญฉบับนี้มาใช้ เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2502 และประกาศให้สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง 

รัฐธรรมนูญฉบับ”สั้นที่สุด”…แต่มีอำนาจ(เผด็จการ)สูงสุด EP.6

 

บทบัญญัติจากกฎหมายปกครองสูงสุดฉบับนี้ ทำให้คณะปฏิวัติ "มีอำนาจ" เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จโดย "จอมพลสฤษดิ์" ผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ และเป็นผู้บัญชาการสูงสุด รวบอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไว้ทั้งหมด และคณะปฏิวัติยังออกกฎหมาย ด้วยการออกประกาศของคณะปฏิวัติ และบริหารราชการแผ่นดิน มีหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้สั่งการ ส่วนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิก 240 คน ล้วนเป็นข้าราชการประจำเกือบทั้งหมด และเป็นนายทหารประจำการกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมด สะท้อนการเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการทางทหารและข้าราชการมากที่สุด ตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศเมื่อปี พ.ศ.2475
      

ประเทศไทยในช่วงนั้นยังเกิดช่องว่างการปกครองโดยปราศจากรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 101 วัน คือตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2502 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญไทยที่มีบทบัญญัติที่สั้นที่สุด คือ มีเพียง 20 มาตรา จนถูกวิจารณ์ไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีลักษณะเป็น"รัฐธรรมนูญของรัฐเผด็จการ" ที่ชัดเจนที่สุด

 

ขณะเดียวกันยังสร้างภาพจำของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ด้วยการบังคับใช้มาตรา 17 ในการสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ไปหลายคน โดยไม่ผ่านกระบวนการของศาล จนทำให้ผู้คนสมัยนั้น เกิดความหวาดกลัวว่าจะโดนจับและตัดสินคดีด้วยวิธีเช่นนี้ 

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
    

ส่วน"จอมพล สฤษดิ์"ยังได้แสดงบทของผู้นำเผด็จการ ด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาคดีวางเพลิงด้วยตัวเองกลางท้องสนามหลวง ก่อนจะสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาที่รับสารภาพว่า เป็นคนรับจ้างวางเพลิง เพื่อหวังผลประโยชน์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 จนถูกกล่าวขานไปทั่วเมือง

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ก็ถูกใช้เป็นเวลายาวนานถึง "9 ปี 4 เดือน 20 วัน" หรือตลอดวาระการดำรงตำแหน่งของ "จอมพลสฤษดิ์" ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 จากนั้น "จอมพลถนอม กิตติขจร"จึงขึ้นสืบทอดอำนาจต่อโดยที่"จอมพลถนอม"ก็ยังยึดเอากฎหมายฉบับนี้ปกครองประเทศต่อมา

 

จอมพลสฤษดิ์ และภริยา
   

แต่เวลาเพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่ "จอมพล สฤษดิ์"ถึงแก่อสัญกรรม ทายาทและภรรยาที่มีหลายคนของ "จอมพลสฤษดิ์"เกิดการวิวาทแก่งแย่งทรัพย์สินมรดก ซึ่งระบุกันว่ามีจำนวนกว่า 2,800 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 บุตรทั้ง 7 คน ของ "จอมพลสฤษดิ์"ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง "ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์"ภรรยาคนสุดท้าย โดยระบุว่า เป็นคนบุกไปทำลายพินัยกรรมของบิดาถึงในบ้านพักภายในกองพลทหารราบที่ 1 ทำให้เรื่องราวกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและตกเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

 

จอมพลถนอม กิตติขจร

 

รัฐบาลภายใต้การนำของ "จอมพลถนอม"จึงตัดสินใจนำมาตรา 17 มาบังคับใช้ในการยึดทรัพย์ "จอมพลสฤษดิ์"และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อลดกระแสถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน
   

ซึ่งผลการสอบสวนปรากฏออกมาว่า "จอมพล สฤษดิ์"ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูอนุภรรยาและลงทุนในธุรกิจ มีที่มาจาก 3 แหล่งคือ เงินงบประมาณ 394 ล้านบาท ที่เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงิน 240 ล้านบาทจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และประมาณ 100 ล้านบาทซึ่งควรจะให้แก่กองทัพบกที่ได้เปอร์เซนต์จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

   

ในระหว่างการสอบสวน "อธิบดีกรมทะเบียนการค้า"ในสมัยนั้น เปิดเผยด้วยว่า "จอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิงวิจิตรา" มีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ถึง 45 แห่ง การถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก็คือในบริษัทกรุงเทพกระสอบป่าน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ต่อมาสมาชิกผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริษัท ได้ให้ปากคำว่า หุ้นส่วนเหล่านี้ ได้โอนไปให้น้องชาย "จอมพล สฤษดิ์"สองคน ซึ่ง  "จอมพล สฤษดิ์" ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมข้าว ที่ออกกติกาบังคับให้ซื้อกระสอบป่านจากบริษัทนี้ 

   

นอกจากนี้ยังมีจำนวนหุ้นและบัญชีเงินฝากในธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งที่ดินอีกมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับไม่ถ้วนทั่วพระนคร ส่วนเงินสดที่เก็บไว้ในธนาคารต่างๆ นั้น มีอยู่ประมาณ 410 ล้านบาท ซึ่งถูกยึดไว้เพื่อพิจารณาว่าเงินส่วนใดเป็นของรัฐบาลหรือไม่

    

ในที่สุดศาลก็ได้พิจารณาคดีวิวาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของ"จอมพล สฤษดิ์"ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2507 ศาลแนะนำให้ประนีประนอมกันโดยที่ให้ "ท่านผู้หญิงวิจิตรา"และ "พันโท เศรษฐา" บุตรชาย เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และให้ตกลงกันเองต่อเมื่อปรากฏผลขั้นสุดท้ายของการสอบสวนของรัฐบาลแล้ว

   

มาตรา 17 จึงเป็นกฎหมายที่วกกลับไปถึงผู้กำหนดใช้ อย่างที่หลายคนมองเป็นเรื่องของชะตากรรม จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปกครองประเทศฉบับนี้ได้ถูกยกเลิก เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ และประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับที่ 8 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 

 

ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ