ข่าว

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ปริญญา” ชี้ “89ปีรัฐธรรมนูญไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก” ระบุต้องแก้ที่ศาล โดยศาลต้องไม่รับรองว่าการรัฐประหารถูกต้องโดยรัฐธรรมนูญ ด้าน “พริษฐ์” เสริมต้องแก้ รธน. ม.279 ไม่ให้นิรโทษกรรมกลุ่มคนที่ทำรัฐประหาร ควบคู่กับการปฏิรูปกองทัพ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างร่วมรายการ “คมชัดลึก” หัวข้อ “89 ปี รัฐธรรมนูญไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก” ว่า รัฐธรรมนูญของไทยฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นฉบับที่ 2 ต่อจากฉบับแรกที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 หลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงสละอำนาจแก่ราษฎร จึงทำให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้น ที่มี 2 หลักการสำคัญคือ 1.ประชาธิปไตย การปกครองอำนาจเป็นของประชาชน 2.การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีประมุขคือพระมหากษัตริย์ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 2 ที่ระบุว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือความถูกผิดทางการเมือง แต่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยให้มีตัวแทนประชาชนทูลเกล้าฯ และพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา 

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279

 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า แต่จุดเปลี่ยนของรัฐธรรมนูญไทยเริ่มขึ้นในปี  2490 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยมีการทำรัฐประหารและอยู่ในวงจรอุบาทว์ เป็นการปฏิวัติยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งน่าเสียดายโอกาสที่ดีของประเทศไทยเพราะเราเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มา และเราไม่แพ้สงครามโลกเพราะมีขบวนการเสรีไทย แต่พอฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2490 โดยฉีกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2489 ที่ปรับปรุงต่อจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2475 ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่ง รธน.ฉบับปี 2489 เล่มไม่หนา เนื้อหามีเพียงหมื่นคำ กระชับและสมบูรณ์แบบที่สุด พอแต่พอเกิดการฉีกรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 2490 ก็ทำให้ประเทศไทยเป็นมาอย่างทุกวันนี้

ดังนั้น จะรักษารัฐธรรมนูญที่ดีอย่างไร หรือจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บับที่ 21 หรือไม่นั้น ตนเองเห็นว่ารัฐบาลควรมาจากประชาชน 1 คน 1 เสียง ใครมีเสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไป พอครบวาระ 4 ปีก็ว่ากันใหม่ แต่ รธน.2560 มันเพี้ยนไป และให้ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้ ทั้งที่ ส.ว.ก็มาจากการแต่งตั้ง มันไม่แฟร์กับบ้านเมือง ทุกฝ่ายถ้าจะบรรลุการปกครอง ก็ควรเห็นต่างกันได้ แต่ใช้สันติภาพในการแก้ปัญหา 

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279

 

“ผมพูดเสมอว่าประชาธิปไตย ก็เหมือนแข่งฟุตบอล แต่ว่ากันตามกติกา เชียร์ทีมไหน แพ้-ชนะ ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ว่าพอเวลาผ่านไป ทีมหนึ่งได้เปรียบ ทีมหนึ่งเสียเปรียบ ก็จะให้นักฟุตบอลฟาวล์  อย่างนี้ไปไม่รอด ประเทศเราจะไม่สามารถลงหลักปักฐานด้านกฎหมายและความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ แต่ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารและเสียเลือดเนื้อ แต่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ รัฐบาลมีประสิทธิภาพ มีทางเดียวคือให้การปฏิวัติหมดไป” ผศ.ดร.ปริญญา ย้ำ

อาจารย์นิติศาสตร์ กล่าวด้วยว่าการถ่วงดุลอำนาจในการปกครองประเทศ ที่มี 3 อำนาจ คือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ การปฏิวัติจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่ศาล ดังนั้น ศาลต้องเปลี่ยน ศาลต้องอย่าให้เขาปฏิวัติ ต้องส่งสัญญาณตั้งแต่บัดนี้เลย คือรัฐธรรมนูญเพิ่งมารับรองว่าคำสั่งคณะปฏิวัติชอบด้วยกฎหมาย คือธรรมนูญการปกครอง ปี 2515 แต่ครั้งนั้นเป็นเพียงการรับรองกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรอง และรัฐธรรมนูญที่รับรองว่าประกาศคณะปฏิวัติชอบด้วยรัฐธรรมนูญคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และ รธน.ฉบับ 2560 ดังนั้น ศาลจะต้องกำหนดออกมาว่าอย่าปฏิวัติเพราะกฎหมายไม่รับรองแล้ว 

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279

 

ส่วนที่มีการเรียกร้องให้แก้ไข มาตรา 279 ที่มีการนิรโทษกรรมคนที่ทำรัฐประหารนั้น ที่จริงรัฐธรรมนูญในปี 2517 มาตรา 4  ระบุว่าการนิรโทษกรรมการล้มล้างรัฐธรรมนูญจะกระทำไม่ได้ แต่พอเกิดเหตุการณ์ เกิด 6 ต.ค. 2519 ก็ถูกฉีกรัฐธรรมนูญ มีการล้มล้างรัฐบาล ล้มสภา แต่ศาลคงไว้ นี่คือแพทเทิร์นการปฏิวัติ ทั้งที่การปฏิวัติตามประมวลความผิดกฎหมายอาญา ม.113 เป็นความผิดฐานกบฏ ที่มีโทษรุนแรงขนาดนี้ แต่ทำไมไม่มีการลงโทษ แต่คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตัวเอง และเป็นบรรทัดฐานของศาลฎีกา 

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279

 

“ศาลมองว่าเมื่อยึดอำนาจแล้ว ก็สั่งการได้หมด และเป็นบรรทัดให้ศาลฎีกายึดแนวทางนี้มาตลอด นี่คือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของประเทศไทย รัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าการปฏิวัติทำได้ ถ้าสำเร็จ และศาลก็จะรับรองทุกอย่างที่ประกาศมา ฉะนั้น ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องแก้ตรงนี้ว่าให้การปฏิวัติไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกต่อไป คนเขียนคือศาล ดังนั้นคนที่แก้ก็คือศาล และ รัฐธรรมนูญส่วนที่เป็นจารีต ประกอบด้วยส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กับส่วนที่เป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งนับอยู่ในรัฐธรรมนูญส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย นี่คือรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ที่เป็นจารีตโดยศาล และเป็นลายลักษณ์อักษรเพราะเป็นคำพิพากษาของศาล”

 

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมือง กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันกับรายการ “คมชัดลึก” ว่า หลายครั้งที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ เกิดการรัฐประหารและเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ทางแก้คือต้องติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องก่อน คือรัฐธรรมนูญต้องมีเนื้อหาที่จะคุ้มครองประชาธิปไตยต้องติดกระดุมว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีอย่างไร ซึ่งต้องประกอบไปด้วย 3 ก้าว ดังนี้คือ 


1.พาประเทศก้าวพ้นวิกฤติความขัดแย้ง และมีความเป็นกลาง เคารพทุกความคิดเห็น แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ไม่ตอบโจทย์ 
2.ก้าวสู่ประชาธิปไตย ซึ่งต้องประกอบด้วย 
2.1 รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แค่ไหน 
2.2 ออกแบบโครงสร้างคุ้มครองสิทธิประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน โครงสร้างสถาบันการเมือง ไม่ใช่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ เท่าส.ส. และ 
3.การก้าวทันอนาคต ทำยังไงให้รัฐธรรมนูญยืดหยุ่นและแก้ปัญหาได้ในยุคนั้น ๆ แต่ รธน.2560 ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล็อกไว้ คือถ้าทำแล้วไปขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ทำต่อไม่ได้แล้ว 

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279


นายพริษฐ์ ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องคิดถึงระบบ อย่าคิดถึงตัวบุคคล แต่ประเทศไทยมักจะคิดถึงบุคคล เช่น ต้องเป็นคนดี ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่อันตราย เพราะคนดีที่สมบูรณ์แบบมันไม่มีอยู่จริง ควรมองในแง่ร้ายไว้ก่อน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจอยู่ที่ฝ่ายการเมือง เวลาจะยื่นแก้ รธน. ถ้าอีกฝ่ายไม่เอาด้วย ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไม่ผ่าน แต่ถ้ากติกาตรงกัน จึงจะมีการแก้ไข ดังเช่น ม.256 ยังเป็นปัญหา เพราะการแก้รธน.นั้นแก้ยากมากกว่ากฎหมายทั่วไป ต้องมีฉันทะของสังคม และบางประเทศต้องทำประชามติ แต่สิ่งที่แปลก ที่สื่อวิเคราะห์คือเวลาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะเอาด้วยไหม ถ้าส.ว.เสียงไม่ถึง 1 ใน 3 ก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279


นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่าถ้าเราจะป้องกันการรัฐประหาร จะต้องประกอบด้วย 1.จะทำยังไงให้ผู้ที่ทำรัฐประหาร โดยกองทัพไม่สามารถทำได้ และ 2.จะทำยังไงให้ประชาชนคัดค้าน ต่อต้านการรัฐประหาร เพราะมีประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับรัฐประหาร ดังนั้น จึงต้องแก้รธน.เพื่อให้การทำรัฐประหารมีราคาที่ต้องจ่าย ต้องแก้ไข ม.279 ว่าคำสั่งจากการรัฐประหารไม่ชอบด้วยรธน. และให้เราสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ทำรัฐประหารได้ ซึ่งไม่ใช่จะแก้ ม.279 เพื่อเช็คบิลเหตุการณ์ในอดีต แต่เป็นการวางบรรทัดฐานเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต


“ถ้า ผบ.ทบ.ที่เขาจะทำรัฐประหาร จะถูกดำเนินคดี โอกาสที่จะทำก็จะน้อยลง เหมือนใน รธน.ปี 2517 ที่ระบุไว้ แต่ก็ถูกฉีก รวมถึงจะต้องมีการปฏิรูปกองทัพควบคู่กันไป ทำให้กองทัพอยู่ภายใต้ทิศทางและอำนาจรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีสถานะเหมือนเป็นหน่วยงานอิสระที่สามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้ หรือให้สภากลาโหมมีตัวแทนภาคพลเรือนเยอะขึ้น หรือกลไกของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าถ้าใครที่เป็นทหารและจะมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องพ้นจากทหารก่อน 7 ปี นอกจากนี้ต้องไม่ให้ศาลมารับรองการรัฐประหาร และให้มีกฎหมายคุ้มครองทหารที่ไม่ทำรัฐประหารตามนายสั่ง ไม่มีความผิด ดังนั้น จะทำยังไงให้ประชาชนออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร เหมือนอย่างที่ประเทศเมียนมา ที่ประชาชนของเขาตื่นตัวสูงกว่าในประเทศไทย” นายพริษฐ์ กล่าว 

 

"ปริญญา-พริษฐ์" ชี้ 89ปีรธน.ไทย ทำอย่างไรไม่ถูกฉีก ต้องแก้ที่ศาล-รธน. ม.279


นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่าจะทำยังไงเวลาเจอวิกฤติการเมือง เราจะไม่แสวงหาคนดี เพราะหลายครั้งที่การรัฐประหารจะใช้จังหวะความขัดแย้งทางการเมืองสูงทำรัฐประหาร และหาข้ออ้างมารัฐประหารเพราะว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี แล้วอ้างหาคนดี และยอมให้กลไกนอก เอาคนดีมาปกครองบ้านเมือง กลายเป็นการยึดอำนาจจากประชาชนไป แต่พอตื่นขึ้นมาเขากลายเป็นคนไม่ดีแล้ว จะทำยังไง จะเอาอำนาจคืนมา ก็ไม่ได้แล้ว อำนาจจากประชาชนถูกยึดไปแล้ว ซึ่งมันก็เป็นมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ดังนั้นจะทำยังไงเราจะยึดมั่นประชาธิปไตยและไม่ไปสนับสนุนกลไกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ