ข่าว

อย่าพึ่งกังวล "โอไมครอน" ยังไม่แทน "เดลตา" สัดส่วนไม่ถึง 1% สัมผัสตรงไม่เจอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย่าพึ่งกังวล สธ.เผย ทั่วโลกติด "โอไมครอน" สัดส่วนไม่ถึง 1% ยืนยัน ไทยยังไม่มีคนติดเชื้อจากการเป็นผู้สัมผัสโดยตรง

(12 ธ.ค. 2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันแล้ว 3 คน รายแรกคือ ชายชาวอเมริกันเดินทางมาจากประเทศสเปน รายที่ 2 และ 3 เป็นหญิงไทย เดินทางกลับมาจากไนจีเรีย ส่วนรายที่ 4 เป็นชายไทยเดินทางกลับมาจากประเทศดิอาร์ คองโก อยู่ระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งตัวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลยังไม่ออก แต่มีแนวโน้มเป็นไปได้สูง

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามดูตัวเลขผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ทั่วโลก เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. มีประมาณกว่า 3,000 คน โดยประเทศแอฟริกาใต้มีตัวเลขสูงสุด รองลงมาคือ อังกฤษ เยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้วไม่ถึงร้อยละ 1 ดังนั้น หากดูแต่ยอดตัวเลขเพียงอย่างเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นสูง ทำให้เกิดความกังวล แต่หากดูรายละเอียดจะเห็นว่า หลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ก็ไม่พบผู้สัมผัสที่ติดเชื้อสักราย สำหรับไทยก็ยังไม่พบผู้สัมผัส
ติดเชื้อเช่นกัน สถานการณ์การระบาดของทั่วโลกยังเป็น "สายพันธุ์เดลตา" ส่วนสายพันธุ์ "โอไมครอน" จะมาแทนที่เดลตาหรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังจับตามอง และแนะนำด้วยว่า เรากังวลกับสายพันธุ์นี้ได้ แต่ไม่ควรตกใจมากเกินไป

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้เสียชีวิตขึ้นลง 30 - 50 คน คาดว่าค่าเฉลี่ยจะลงมาเรื่อย ๆ เรายังพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มงานบุญ งานประเพณี สถานประกอบการ แต่ไม่ใช่กลุ่มก้อนใหญ่ ซึ่งก็ต้องคอยเตือนให้ระวังตัว ไม่ให้วางใจเกินไป แต่ภาพรวมตั้งแต่หลังลอยกระทงก็ไม่พบกลุ่มก้อนที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือว่าเป็นความสำเร็จ และเป็นความร่วมมือของประชาชน ในการป้องกันตนเองในการออกมาร่วมงาน ส่วนกลุ่มตลาดยังพบ เพราะเป็นสถานที่ ที่มีคนหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ดูเหมือนว่าผู้ป่วยจากตลาดยังพบได้อยู่ ส่วนตัวเห็นว่าทำได้ขนาดนี้ก็น่าพอใจ ขอให้ยกการ์ดสูงต่อเนื่องกันต่อไป
 

logoline