ข่าว

ย้อนรอย"89ปีรธน.ไทย" รัฐธรรมนูญลูกผสม…จัดฉากรัฐประหารหวังครองอำนาจEP.5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"89 ปีรธน.ไทย" ย้อนรอยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่สร้างความเสียหายครั้งรุนแรง เมื่อกลุ่มกบฎในนามคณะกู้ชาติ จับจอมพลป. ไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้กดดันอย่างหนักนำไปสู่การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่เรือรบหลวงศรีอยุธยาจนเรือจม EP.5

เรือรบหลวงศรีอยุธยา

 

ภาพของความเสียหายของ"เรือรบหลวงศรีอยุธยา" ที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ซึ่งในเรือมี"จอมพล ป.พิบูลสงคราม"บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทยถูกจับตัว โดยฝีมือของกลุ่มนายทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" นำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา รวมตัวกันก่อการกบฏและจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามไว้ระหว่างที่ไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ "แมนฮัตตัน" บริเวณท่าราชวรดิฐ

 

โดยผู้ก่อการนำตัวผู้นำรัฐบาลไปกักขังไว้เพื่อต่อรองบนเรือลำนี้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้กดดันอย่างหนัก นำไปสู่การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ Spitfire และ T6 ใส่เรือรบหลวงศรีอยุธยาจนเรือจม

 

ขณะที่"จอมพล ป. พิบูลสงคราม" ถูกทหารที่อยู่บนเรือจับสวมเสื้อชูชีพและพาว่ายน้ำหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย จากนั้นฝ่ายกบฏและรัฐบาล จึงเปิดการเจรจากัน ซึ่งฝ่ายกบฏได้ยอมปล่อยตัว"จอมพล ป."คืนให้กับฝ่ายรัฐบาล ในเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันเดียวกันนั้น 

ย้อนรอย"89ปีรธน.ไทย"  รัฐธรรมนูญลูกผสม…จัดฉากรัฐประหารหวังครองอำนาจEP.5

 

ความพยายามในการก่อรัฐประหารครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะการต่อสู้ได้ทำให้อาคารสถานที่หลายแห่งพังเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนับร้อยคน ซึ่งมีทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วย ส่วนฝ่ายผู้ก่อการ ภายหลังการเจรจาได้พากันหลบหนึขึ้นรถไฟไปทางภาคเหนือ จากนั้นจึงแยกย้ายหลบหนีข้ามพรมแดนไปประเทศพม่าและสิงคโปร์

 

ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารซึ่งอยู่ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ที่ถูกเปลี่ยนมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 หรือฉบับที่ 5 ซึ่งถูกใช้ได้เพียง 2 ปีเศษ ก็มีการทำรัฐประหารนำโดย"พลเอก ผิน ชุณหะวัณ" ที่ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญในวันที่ 29พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เพื่อนำเอา"รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475" กลับมาใช้อีกโดยอ้างว่า "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492" ให้สิทธิเสรีภาพมากจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถป้องกันภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ 

 

จอมพลป.พิบูลสงคราม

 

จอมพลผิน  ชุณหะวัณ

แต่หากมองลึกไปถึงสาระของเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ จะเห็นถึงความแยบยลของผู้มีอำนาจทางการเมืองในสมัยนั้น ซึ่งคณะบริหารประเทศชั่วคราว ที่พร้อมด้วยข้าราชการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และพลเรือน คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และผู้รักชาติ เป็นผู้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

โดยสาระสำคญของเนื้อหา ปรากฏว่า "มีข้อห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกรัฐสภา และรัฐมนตรี รวมถึงการห้ามสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีหาประโยชน์จากรัฐ" ทำให้ผู้บัญชาการทหาร ซึ่งประสงค์จะเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้นั่นเอง จึงได้เกิดการรัฐประหารนำรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2482 กับ พ.ศ. 2483 มาใช้แทนเป็นการชั่วคราวไปพลางๆก่อน 

 

จากนั้นจึงให้สภาผู้แทนราษฎร ประชุมปรึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป ซึ่งก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 24 คน เมื่อได้ดำเนินการเสร็จแล้ว"จอมพล ป.พิบูลสงคราม" นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา 

 

โดยมีบทบัญญัติเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 อยู่เพียง 41 มาตราเท่านั้น นอกนั้นอีก 82 มาตรา เป็นบทบัญญัติที่เขียนเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ซึ่งบทบัญญัติใหม่ ส่วนใหญ่ก็นำมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ทั้งสิ้น

 

แต่การเปลี่ยนและปรับเนื้อหาสาระของกฎหมายสูงสุดในครั้งนั้น ก็ไม่สามารถทำให้การบริหารบ้านเมืองราบรื่นโดยง่าย เพราะระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 6 ไปได้ประมาณ 5 ปี ได้เกิดเหตุการณ์การเลือกตั้งที่ถูกบันทึกว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการไม่สุจริต และช่วยโกงการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครพรรคเสรีมนังคศิลาของ "จอมพล ป." ด้วยหลายวิธีการตั้งแต่สถานเบา เช่น ใช้คนเวียนเทียนกันลงคะแนน แอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้ง ไปจนถึงสังหารผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม จนต้องใช้เวลานับคะแนนกันยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน 

ย้อนรอย"89ปีรธน.ไทย"  รัฐธรรมนูญลูกผสม…จัดฉากรัฐประหารหวังครองอำนาจEP.5

 

ความร้าวฉานและความไม่พอใจต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้รวบรวมกำลังเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล "จอมพล ป."โดยใช้เหตุผลอ้างว่า ประชาชนไม่พอใจรัฐบาล สืบเนื่องมาจาก"การเลือกตั้งสกปรก"นั่นเอง

 

ซึ่งเหตุวุ่นวายทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 ซึ่งกำหนดให้มีรัฐสภามีสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกประกอบด้วย ส.ส.ประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง 160 คน และ ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง 121 คน รวม 281 คน

 

"จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ " ในฐานะ"ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร"

 

และแม้"จอมพล สฤษดิ์" ในฐานะ"ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร"หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ ก็ยังออกประกาศให้คงใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ต่อไป ภายใต้เงื่อนไขยกเลิกให้สมาชิกภาพ ส.ส.ประเภทที่ 1 และ ส.ส.ประเภทที่ 2 สิ้นสุดลง ให้เลือกตั้ง ส.ส.ประเภทที่ 1 ภายใน 90 วัน และแต่งตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 2 ใหม่ 121 คน แต่ยังคงที่มาของ ส.ส.และรัฐมนตรีจากข้าราชการประจำไว้

 

จากนั้นสองวัน ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2500 จึงแต่งตั้งให้”นายพจน์ สารสิน” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือก ส.ส.ประเภทที่ 1 จำนวน 160 คนในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500

 

ต่อมา 1 มกราคม พ.ศ.2501 "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" รวบรวมเสียง ส.ส.ในสภาแล้ว จึงผลักดันให้ "พลโท ถนอม กิตติขจร"ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็น"รัฐบาลหุ่นเชิดของจอมพลสฤษดิ์"

 

จอมพลถนอม กิตติขจร

 

ขณะที่ "พลโท ถนอม"ซึ่งถูกสวมหัวโขนให้เป็นหัวหน้ารัฐบาล กลับไม่สามารถควบคุมเสียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้ "จอมพล สฤษดิ์"จึงยึดอำนาจจากรัฐบาล"พลโท ถนอม"ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 แต่การยึดอำนาจครั้งนี้ ถูกระบุว่า เป็นการยึดแบบเกี้ยเซียะอำนาจกันเองเพื่อตบตาประชาชนเท่านั้น

 

และเมื่อ"จอมพล สฤษดิ์"ยึดอำนาจครั้งที่ 2 ได้แล้ว จึงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด 

 

กระทั่งหนึ่งปีต่อมาในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2502 จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ 7 กำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภา ที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย จากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 จึงประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 240 คน

 

และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทย

 

ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์ จาก Google 

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ