89 ปี รธน.ไทย "มีชัย ฤชุพันธุ์" เนติบริกรชั้นครู มือร่างรัฐธรรมนูญยามวิกฤต
89 ปี รธน.ไทย บุคคลหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึง ลืมไม่ได้เลย "มีชัย ฤชุพันธุ์" ชื่อนี้ในแวดวงการเมืองและนักกฎหมายน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เป็นมือร่างรัฐธรรมนูญให้กับบ้านเมืองยามวิกฤตและหลังรัฐประหาร
ในแวดวงการเมืองและกฎหมายเมื่อเอ่ยชื่อ "มีชัย ฤชุพันธุ์"น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะเขาผ่านงานการเมืองระดับประธานรัฐสภาและรัฐมนตรี และเป็นมือร่างกฎหมายคนสำคัญของคณะกรรมการกฤษฎีกาและว่ากันว่าเขาคือ เนติบริกรชั้นครู ซึ่งในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมากลุ่มของพวกเขามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารโดยมีลูกทีมคนสำคัญอย่าง วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็แต่งตั้งให้เขาเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ผลงานการร่างรัฐธรรมนูญที่โดดเด่นของ "มีชัย" เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหลังการรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังการยึดอำนาจ รสช.ได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี "มีชัย"เป็นประธานและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ใช้เวลา 6 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 มีประเด็นสำคัญ คือ การเปิดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้ถูกวิจารณ์ว่ากติกาที่ร่างขึ้นมาเท่ากับเป็นการปูทางให้ รสช.สืบทอดอำนาจ
ผลคือหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำการรัฐประหารลาออกจากผู้บัญชาการกองทัพบก มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดการประท้วงจากประชาชน และมีการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชนจนเกิด เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนในที่สุด พล.อ.สุจินดา ต้องลาออก
แต่ที่สำคัญเขาเป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี2534 ในเวลาต่อมาเพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญฉบับที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง
"มีชัย" กลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)เขาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ คปค. มีบทบาทสำคัญในการร่างแถลงการณ์ประกาศและคำสั่งคปค.หลายฉบับ และยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 ร่วมกับวิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมทั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคนั้น
และเมื่อเกิดการรัฐประหารครั้งหลังสุดในปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)"นายมีชัย" กลับมาอีกครั้งโดยเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งสมาชิก คสช. ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายทหาร โดยตลอดระยะเวลาของการบริหารประเทศโดย คสช. บทบาทของ "มีชัย" เป็นในลักษณะผู้อยู่เบื้องหลัง
เขาเคยมีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ร่วมกับ วิษณุ เครืองามและบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก่อนที่จะถอนตัวหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทการทำงานในอดีต
และสุดท้ายก็นั่งเป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60
ครั้งนั้น "มีชัย" บอกกับสื่อหลังทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ว่า
"ไม่ได้มีความสุขหรือทุกข์เป็นกิจจะลักษณะ แต่มีความเหนื่อยยากเป็นสำคัญ เพราะหลายกรณีเราต้องไปอธิบายว่าทำไมเราเขียนแบบที่อยากได้ทั้งหมดไม่ได้ เขียนได้บางส่วน ก็ต้องเฉลี่ยกันไป อย่าให้ถึงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้เลย มันไม่มีใครได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด อย่าง คสช. เสนอมา ในฐานะเขาเป็นผู้ปฏิวัติย่อมอยากจะเห็นบ้านเมืองไปตามทิศทางที่เขาต้องการ อันไหนทำได้เราก็ทำ อันไหนไปไกลเกินไปจนประชาชนจะรับไม่ได้ เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง"
และ"ในการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจร่างได้ตามใจปรารถนาหรือเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่ใช่ร่างเก็บไว้ใช้ในบ้านแต่ต้องใช้กับคนทั้งประเทศ แต่คำขอร้องแกมบังคับจากผู้มีอำนาจสูงสุด ก็ทำให้ กรธ. เครียด-กดดัน"
ในด้านตำแหน่งทางการเมือง เขานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์และรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และ รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร
นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 สมัย เป็นสมาชิกวุฒิสภา 3 สมัย เป็นประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภา ระหว่างปี 2535-2543