ข่าว

ศมข.ลพบุรี ชู "2 นาแปลงใหญ่" ต้นแบบการผลิตข้าวคุณภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศมข.ลพบุรี ชู "2 นาแปลงใหญ่" ต้นแบบการผลิตข้าวคุณภาพ และผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา

นางเนตรนภา หัตถ์ฐาปนวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการระบบส่งเสริม "เกษตรแบบแปลงใหญ่" ว่าการส่งเสริมการทำนา "แปลงใหญ่" เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ช่วยให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากต่างคนต่างทำสู่การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ชาวนาได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือต้นทุนด้านการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อขายสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด สามารถต่อรองราคาได้ มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง 
 

สำหรับ"กลุ่มนาแปลงใหญ่"ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี สนับสนุนตั้งแต่ปี 2559 -2564 มีทั้งหมด 43 แปลง สมาชิก 2,513 ราย พื้นที่ 52,035 ไร่ สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรีนั้น ศูนย์ฯได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกร"กลุ่มนาแปลงใหญ่"ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแล้ว ยังมีในส่วนของการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะนำพาเกษตรกร"กลุ่มนาแปลงใหญ่"ไปถึงเป้าหมาย  

ศมข.ลพบุรี ชู "2 นาแปลงใหญ่" ต้นแบบการผลิตข้าวคุณภาพ

จากการส่งเสริมที่ผ่านมา"แปลงใหญ่"สามารถพัฒนาไปเป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต่อยอดเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวจากชุมชนสู่ชุมชนข้างเคียง สร้างตลาดจากการแปรรูปเพื่อจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น มีกองทุนหมุนเวียนเพื่อบริหารจัดการในกลุ่ม และการบริหารจัดการที่กลุ่มที่เป็นระบบมากขึ้น นางเนตรนภา กล่าว
ศมข.ลพบุรี ชู "2 นาแปลงใหญ่" ต้นแบบการผลิตข้าวคุณภาพ

"นาแปลงใหญ่" ตำบลม่วงค่อม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 32 ราย พื้นที่ 503 ไร่ ชาวนาที่ตำบลม่วงค่อม รวมกลุ่มกันขึ้นมาพร้อมกับความมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพผลผลิต พัฒนาสมาชิกของกลุ่มให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ศมข.ลพบุรี ชู "2 นาแปลงใหญ่" ต้นแบบการผลิตข้าวคุณภาพ

ก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 3,800 บาท/ไร่ แต่หลังจากเข้าร่วมดำเนินการ ต้นทุนการผลิตลดลงเหลือ3,000 บาท/ไร่ ลดต้นทุนได้ 800 บาท/ไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เดิมใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 30 กิโลกรัม/ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 12 กิโลกรัม/ไร่ อีกทั้งกลุ่มฯยังมีกองทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการกลุ่ม ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทย (มกษ.4400-2552) ได้รับการรับรองการผลิตข้าว GAP แบบกลุ่ม จำนวน 27 ราย 27 แปลง 391 ไร่

 

ปัจจุบัน"กลุ่มนาแปลงใหญ่"ตำบลม่วงค่อมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลผลิตข้าวคุณภาพเพื่อจำหน่าย เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดแล้วก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก 

ด้าน "กลุ่มนาแปลงใหญ่" ตำบลสนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ในอดีตมีการทำนากันแบบพื้นบ้าน ไม่มีนวัตกรรมไม่มีเทคโนโลยีหรือมีองค์ความรู้ใหม่ ๆเข้ามา ก็ทำให้ได้ผลผลิตค่อนข้างน้อย แต่เมื่อรวมกลุ่มกันเป็น"นาแปลงใหญ่"ผลผลิตข้าวมีคุณภาพกว่าเดิมและปัจจุบันสามารถจะพัฒนาไปเป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรีได้

 

นายอนิวรรต ไพรดำ ผู้จัดการแปลงใหญ่ข้าวตำบลสนามแจง กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ กลุ่มฯได้รับความอนุเคราะห์ความรู้จากกรมการข้าวโดยเฉพาะศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี ให้ความรู้ ให้ทักษะ และเทคนิควิธีการทำเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้อง

 

ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 164 ราย พื้นที่ 4,523  ไร่ พัฒนาต่อยอดเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 24 ราย พื้นที่ประมาณ 1,375 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ทำเมล็ดพันธุ์ดีและมีคุณภาพ ในอดีตตอนที่ยังไม่มีองค์ความรู้ด้านการใช้เมล็ดพันธุ์ จะใช้เมล็ดพันธุ์ตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษหรือของคนที่เคยทำมาอยู่ที่อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ พอได้เรียนรู้มีทักษะการปลูกข้าว การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและเหมาะสม อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้อยู่ตอนนี้ ขั้นต่ำที่เกษตรกรในแปลงใช้อยู่ที่ประมาณ 15 กิโลกรัมต่อไร่ นับว่าเป็นการลดต้นทุนที่สมาชิกพึงพอใจมาก

 

อีกทั้งผลผลิตยังเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นกว่าการผลิตข้าวขายให้โรงสีทั่วไปกว่าครึ่ง ยกตัวอย่างปัจจุบันราคาข้าวปทุมธานี1 ราคาโรงสีอยู่ที่ 7,700 ถึง 7,800 บาทต่อตัน ในขณะที่ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรีราคา 13,300บาท ซึ่งเป็นอัตราส่วนรายได้ที่แตกต่างกับทำข้าวบริโภคหรือว่าข้าวทั่วไป

 

อีกประเด็นหนึ่งถ้าวัดกันด้วยความสุขทางด้านของเศรษฐกิจจึงเป็นอะไรที่ทำให้เกษตรกรที่ทำแปลงอยู่ตรงนี้มีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวนาดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

logoline