ข่าว

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

งานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” ที่สืบทอดกันมาแต่ยาวนาน บนเส้นทาง "89ปีรธน.ไทย" ณ วันนี้ ยังคงมีปรากฏให้เห็นใน "รัฐธรรมนูญ" ของไทยทุกฉบับ ผ่านการทำงานของกลุ่มงานลิขิต งานเขียนตัวอักษรไทยโบราณ หนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทย หนึ่งเดียวในโลก

พานทองและรัฐธรรมนูญที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือที่หลอมรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพี่น้องชาวไทยให้ยึดถือ และปฏิบัติตามบทบัญญัติของข้อกฎหมายในทุกมาตราที่ถูกร่างขึ้นมาในแต่ละยุคสมัยการปกครองของไทย

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

และวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี.. วันรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมืองไทย วันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 

 

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้.. ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ..  "89ปีรธน.ไทย" แต่นอกเหนือวันรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเป็น “มดงาน”.. คอยทำงานเบื้องหลัง “ผู้ปิดทองหลังพระ” ที่น้อยคนนักจะรู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยในทุกฉบับและทำสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ควบคู่กับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของไทย พวกเขาฝากผลงานเป็นตัวอักษร  ซึ่งทำหน้าที่เสมือน “ตัวแทนองค์พระมหากษัตริย์” ผ่านเอกสารในพระองค์ ทั้งพระราชสาส์นถึงองค์อธิปัตย์นานาประเทศ หนังสือสถาปนาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญ
 

“คมชัดลึก” ร่วมสืบทอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยและรัฐธรรมนูญไทย "89ปีรธน.ไทย"  ผ่านการทำงานของ “บรรดาศักดิ์ สีหาราช” พนักงานลิขิต วัย 53 ปี กลุ่มงานลิขิต กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเขาและทุกคนในทีมจะคอยทำหน้าที่ปฏิบัติงานลิขิต การรักษาและการประทับพระราชลัญจกรให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี 

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก  

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

“บรรดาศักดิ์” เปรียบเสมือนเป็น “ช้างเผือก” .. และเป็น 1 ใน 10 “ช้างเผือกหายาก” ของกลุ่มงานลิขิต ในการทำภารกิจเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราจารึกไว้ในสมุดไทยลงรักปิดทอง หรือสมุดปกทองคำ ภารกิจ "ลิขิตด้วยมือ" วันนี้ “บรรดาศักดิ์” บอกเล่าถึงการทำงานในบทบาทหน้าที่อันสำคัญนี้ที่ไม่ใช่ใครก็ได้.. ที่จะเข้ามาทำกันได้ง่าย ๆ แต่ต้องใช้ฝีมือล้วน ๆ ใช้พรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิด การฝึกฝนลายมือด้วยการเขียนงานนานหลายปี และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีใจรักในงานลิขิตด้วย จึงจะทำให้งานที่รับผิดชอบนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะเป็นงานที่ยากและหินเอาการ..!!

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

“ทำงานตรงนี้คือฝีมือล้วน ๆ เป็นพรสวรรค์ล้วน ๆ แต่ต้องใจรักด้วยเพราะเราเป็นตำแหน่งเล็ก ๆ ไม่ได้ใหญ่โต แต่งานที่เรารับผิดชอบเป็นงานที่ใหญ่มาก งานบางอย่างอาจจะเกินตำแหน่งที่เราทำ เป็นงานระดับประเทศจริง ๆ  เป็นหน้าเป็นตาของประเทศเลย”

บรรดาศักดิ์.. เล่าถึงความพิเศษของงานลิขิต ที่เขาทำมากว่า 24 ปี ซึ่งเขาเริ่มเขียนอักษรไทย “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” และเลขไทยลงในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ตามด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เรียกว่าลายมืออาลักษณ์ ซึ่งเป็นงานที่ทำถวายพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นคนที่เข้ามาทำงานลิขิต จึงต้องเป็นคนที่มีใจรักในงานด้วย ใจไม่รักทำได้ไม่นานก็ออกเพราะเป็นงานที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ต้องมีความอดทนสูง ไม่ใช่ทำวันสองวันก็ออก และในเนื้องานที่ทำนี้ก็ต้องรู้ลึก รู้จริงเกี่ยวกับงานที่ทำด้วย 

 

“งานลิขิต.. ไม่ใช่แค่ชำนาญแล้วมาทำได้เลยเพราะในงานยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ต้องรู้ เอกสารบางอย่าง ศัพท์แสงต่าง ๆ การตัดคำ วรรคตอน ก็ต้องรู้ด้วย คำบางอย่างไม่ใช่คำแบบชาวบ้านใช้ทั่วไป มีคำพิเศษ มีคำบาลี อาจจะต้องรู้ข้อมูลพอสมควร แต่ถ้าทำไปนาน ๆ ก็จะรู้เอง เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไปก็จะรู้ ก็ต้องใช้เวลาฝึกกัน อย่างน้อยก็ใช้เวลาเร็วสุดคือ 5 ปี จึงจะมีความชำนาญ หรืออาจจะมีคนที่ใช้เวลาฝึกเร็วกว่านั้น แต่ถ้าน้อยกว่า 5 ปี ก็จะทำได้แค่เขียน แต่งานในส่วนของเราต้องทำได้มากกว่าการเขียน” 

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

เจ้าหน้าที่ลิขิต ผู้นี้ยังบอกเล่าถึงความสำคัญของงานลิขิตให้เราฟังว่า.. “งานลิขิตเป็นงานตอนปลายที่เราจะต้องมาเขียนรัฐธรรมนูญ และต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย ไม่ใช่จู่ ๆ จะมาเขียนได้เลย แต่เราต้องเตรียมตั้งแต่กระดาษว่าจะใช้กระดาษอะไร ซึ่งเราใช้กระดาษไฮเวท 120 แกรม เราจะต้องเข้าเล่ม ทำรูปเล่ม ซึ่งงานของเรามีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือตอนเขียนกับตอนประทับสุดท้าย แต่อาศัยว่ามีหลายหน่วยงานเข้ามาทำงานด้วยกัน ก็ช่วยให้งานสำเร็จได้ด้วยดี” 

 

บรรดาศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า งานเขียนของเรา ต้องได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก่อน จากนั้นกองนิติธรรมจะจัดรูปแบบการย่อหน้า วรรคตอน ต่าง ๆ เพราะตอนส่งรัฐธรรมนูญมาให้นั้นยังเป็นเพียงกระดาษ A4 ดังนั้น เราจึงต้องส่งรัฐธรรมนูญที่ได้มาส่งให้ทางกฎหมาย (กองนิติธรรม) ดูว่าเวลาเราจะปรับคำ การย่อหน้า การเว้นวรรคตอน และจัดทำรูปเล่ม จะทำอย่างไร ซึ่งตนเองก็มีประสบการณ์ตรงนี้เพราะทำมาหลายเล่มแล้ว ก็จะไปศึกษาดูรัฐธรรมนูญเล่มเก่า ๆ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ว่าทำไว้อย่างไรบ้าง เช่น รัฐธรรมนูญปี 2475 ดูการจัดทำรูปเล่ม การวรรคตอน ทำยังไง ก็ดูรวม ๆ ศึกษาเป็นทอด ๆ ว่าเขาทำกันยังไง แต่เราจะไม่ไปยุ่งข้อความใด ๆ ไม่มีการตัดข้อความทิ้ง หน้าที่เราคือจัดวรรคตอน ให้มีความกว้างยาวเท่าไร 

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

“เจ้าหน้าที่ลิขิตต้องมีความชำนาญด้านตัวหนังสือ ไม่ใช่จู่ ๆ จะมาเขียนได้เลย ก็ต้องผ่านการฝึกมา มีประสบการณ์บ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของกลุ่มงานลิขิตของเราเท่านั้นที่ทำงานลิขิต ส่วนงานอื่นจะมาเขียนไม่ได้ เว้นแต่คนนั้นเคยเขียนรัฐธรรมนูญเล่มอื่น ๆ มาก่อน ก็จะขอตัวมาทำงานร่วมกัน และพอเข้ามา ก็จะต้องมีลายมือใกล้เคียงกัน ตัวหนังสือจะต้องเป็นแบบนี้ ๆ เราก็จะต้องมาคุยกัน ส่วนการจัดย่อหน้า วรรคตอนก็เป็นหน้าที่ของผม แต่จะมีน้องอีกคนหนึ่งคอยทำหน้าที่ใช้เครื่องมือมาทำเป็นเนา ทำเป็นร่างเสมือนจริงก่อน ก่อนที่จะเขียนจริง และหลังจากทำเสร็จแล้ว ก็จะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจทานความถูกต้องก่อนว่าข้อความต่าง ๆ ที่เขียนนั้นถูกต้องไหม เมื่อตรวจทานความถูกต้องแล้ว จึงจะนำไปเขียนลงในสมุดไทยที่เตรียมไว้” 

 

นอกจากนี้ ในทุกชิ้นงานจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ก่อนเราจะเขียน เราจะคุยกันก่อนแล้วว่ากั้นหน้าวรรคตอนเป็นอย่างนี้ เราจะเขียนวันละกี่หน้า กี่พับ เราจะคุยกันก่อนเพราะเราไม่ได้ทำวันเดียว เรามีเวลาทำกันเป็นเดือน  มีเวลาเตรียมตัว อันไหนที่เราคุยแล้วไม่ลงตัว เราก็จะคุยกันว่าจะทำงานให้เร็วขึ้น ซึ่งความกดดันก็มีบ้าง แต่ผู้ใหญ่ก็ให้กรอบเวลาให้เราได้ทำงาน ถ้าระยะเวลากระชั้นเข้ามามาก เราก็จะประยุกต์ด้วยการทำงานให้เร็วขึ้น จากที่เคยทำงานถึง 6 โมงเย็น เราก็จะทำงานเลยไปถึง 2 ทุ่ม หรืออาจจะดึก หรือทำไปจนถึงเช้าเลย ซึ่งเราก็ทำงานเสร็จทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้ทุกครั้ง

 

“ก็ถือว่าเป็นงานที่หินเอาการ แต่เรามีประสบการณ์ด้านนี้อยู่แล้ว และเป็นงานในหน้าที่ของเราที่ต้องรับผิดชอบ พอได้ร่างมาแล้วก็ต้องทำให้เสร็จทันตามกำหนดด้วย ทุกคนก็เข้าใจ เจ้าหน้าที่บางคนก็หนักใจเรื่องระยะเวลา แต่เราก็มีกรอบเวลาที่เราจะทำได้ อาจจะเขียนกันทั้งคืน อาจจะพักบ้าง ก็ประยุกต์เอา ก็เอาเรื่องอยู่ เป็นงานหิน แต่เราก็ทำมาหลายฉบับแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เสร็จลุล่วง” 

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก  

 

บรรดาศักดิ์ เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ว่า จะมีกรอบให้เริ่มทำตั้งตั้งแต่ 1 เดือน ซึ่งแต่ละฉบับจะเสร็จไม่เท่ากัน บางฉบับอาจจะเสร็จก่อน 1 เดือน หรืออาจจะเลย 1 เดือนไปแล้วถึงทำเสร็จ แต่สรุปคือเราทำทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ บางเล่มทำกันไม่ถึงเดือนเสร็จก็มีเพราะเราทำงานกันจนดึก โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าเลย กินข้าวกินปลาเสร็จก็ทำงานกันเลย และแทนที่เราจะเลิกงาน 4 โมงเย็น เราก็จะเลิกงาน 2 ทุ่ม และเราทำงานกันเป็นทีม เราจะคอยดูเพื่อน ๆ ว่าทำกันไปถึงไหนแล้ว บางคนเขียนเสร็จแล้ว อาจมีเขียนผิด เขียนตก ก็อาจจะเขียนข้ามไปก่อน แล้วจะมีคนมาตัดต่อ คอยแก้ไขในส่วนที่ผิด ก็ประยุกต์การทำงานร่วมกันเพื่อให้งานเสร็จสิ้นตามเป้าหมาย

 

ส่วนอุปกรณ์สำคัญในการทำงานของฝ่ายลิขิตนั้น บรรดาศักดิ์ บอกว่า เวลาทำงานก็ใช้ปากกาอย่างน้อยที่สุดก็ 2 แท่ง คือมีหนึ่งแท่งไว้สำรอง ปากกา 1 แท่งก็ใช้งานได้นานสุด 1 เดือน และเราต้องหมั่นดูแล ต้องทำความสะอาด ปากกาที่ใช้ก็ของใครของมัน ข้อมือใคร ข้อมือมัน  เมื่อก่อนเราใช้ปากกาคอแร้งเขียน เรียกปากกาปากแบน  แต่มันต้องจุ่มหมึกตลอด ตอนนี้ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ปากกาแบบใหม่ที่มีหมึกในตัว ไม่ต้องจุ่มหมึก มันเป็นปากกาแบบโบราณ  นอกจากนี้ เราก็จะมีเหล็กจาร ใช้สำหรับจานตัวอักษรลงบนแผ่นเงิน แผ่นทอง ซึ่งมันเป็นโลหะ จากที่เป็นเพียงแผ่นโลหะปกติ พอเราจารลงไปก็จะเป็นตัวหนังสืออาลักษณ์เลย สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน หลัก ๆ ก็จะมีปากกา เหล็กจาร กระดาษ ไม้บรรทัดไว้ใช้ขีดเส้น ยางลบ และมีดคัตเตอร์ไว้ตัดกระดาษ เราก็เสาะหายี่ห้อดี ๆ เหล็กสแตนเลสดี ทั้งหมดคือเครื่องมือในการทำงานของเรา

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

มาถึงประเด็นสำคัญที่ถือเป็นไฮไลต์ และเป็นหัวใจสำคัญของงานลิขิต อันทรงคุณค่าของรัฐธรรมนูญไทย มีคุณค่าและเปี่ยมด้วยประโยชน์แก่สังคมไทยและชาติไทย บรรดาศักดิ์ ย้ำกับเราว่ากลุ่มงานลิขิต ไม่ได้ทำงานเขียนแบบไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์ แต่เราต้องรักษาลายมือที่เป็นมาตั้งแต่โบราณ เขาเรียกว่าลายมือแบบอาลักษณ์ คือทำถวาย และเป็นงานที่ทำที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย แห่งเดียวในโลก..!!

 

“งานเขียนของเราเป็นการอนุรักษ์ลายมือ อนุรักษ์ความเป็นไทย เราเขียนสด ไม่ได้พิมพ์ ลายมือเราก็เป็นเอกลักษณ์ โดยที่หน่วยงานอื่นเขาก็ไม่มี เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ หรือคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ภูมิใจ ดีใจที่เรายังมีอยู่ แต่เราต้องมีมากกว่าคำว่าอนุรักษ์ ลายมือจะต้องไม่หนีจากของเดิมเลย ต้องเป็นแบบโบราณ”

 

“สังคมไทยก็จะได้ประโยชน์จากงานเขียนที่เรารับผิดชอบอยู่ เป็นการอนุรักษ์ตัวหนังสือไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ตัวหนังสือไทย ตัวเลขก็เป็นเลขไทย เขียนไทย การคัดลายมือเป็นลายมืออาลักษณ์ ก็เป็นการอนุรักษ์ไปในตัว สังคมไทยที่มองเห็นรู้คุณค่าก็จะได้ศึกษาต่อยอด ลูกหลานรุ่นหลังก็จะได้รู้ว่ายังมีงานส่วนนี้อยู่ เราก็ทำตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ” 

 

“งานของเราแต่ละชิ้นงาน กว่าจะออกไปได้ เราจะไม่ให้มีข้อผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว ทุกอย่างต้องเรียบร้อย สวยงาม ต้องเป็นลายมืออาลักษณ์เท่านั้น น้อง ๆ ที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ ก็ต้องฝึกคัดลายมือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้  น้อง ๆ ที่สนใจกว่าที่เราจะรับสมัครหาคนเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ ในคนจำนวน 100 คน 1,000 คน กว่าเราจะได้ช้างเผือกสักคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” 

 

“89ปีรธน.ไทย” กับงานลิขิต “ตัวอักษรแบบรัตนโกสินทร์” หนึ่งเดียวในโลก

 

ทั้งหมดคือภารกิจลิขิตอักษรด้วยมือ.. ที่บรรจงเขียนรัฐธรรมนูญไทย ประกอบติดเป็นเล่มสมุดไทยลงรักปิดทอง งานชิ้นสำคัญและชิ้นประวัติศาสตร์ของไทย และอาจเรียกได้ว่าเป็นชิ้นงานประวัติศาสตร์ของโลกเพราะมีที่นี่ที่เดียว ประเทศเดียวในโลก ที่เราทุกคนเกิดมาเป็นคนไทย สัญชาติไทย สายเลือดไทย เรียนภาษาไทย เขียนภาษาไทย เขียนเลขไทย และใช้รัฐธรรมนูญไทย.. นี่คือความภาคภูมิใจของการเป็นชนชาติไทย นับแต่อดีตสืบทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน "89ปีรธน.ไทย"

ปรียาภัทร อุดมศรี : เรื่อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ