ข่าว

ย้อนรอย"89 ปีรธน.ไทย"ผลัดแผ่นดิน-ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 EP.2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"89 ปี รธน.ไทย" ร่วมย้อนรอยความเป็นไปทางการเมืองที่มีส่วนสัมพันธ์กับการแก้ไขรธน. เดินทางมาถึงตอน ผลัดแผ่นดิน-ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 EP.2

 

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 

จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในสมัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 โดย "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช"อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม รวมทั้งนายทหารอื่นๆ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และได้ก่อการรัฐประหาร โดยนำกองทหารจากจังหวัดเพชรบุรี นครราชสีมา และอุดรธานี บุกเข้ายึดพื้นที่เขตดอนเมืองและบางเขนไว้ 
    

ภายหลังการปราบกบฏแล้ว รัฐบาลจึงมีดำริก่อสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้น โดยนำอัฐิของทหารและตำรวจ 17 นาย ที่เสียชีวิตจากเหตุครั้งนั้นมาบรรจุไว้ และในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2479  "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา" ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงประกอบพิธีเปิด

 

พิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 

เหตุการณ์ปฏิวัติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงนับเป็นต้นแบบของ "วิวัฒนาการรัฐธรรมนูญไทย" ที่เริ่มตั้งต้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองของประเทศ แม้จะมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาแล้ว 2 ฉบับ แต่ในที่สุดวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489 จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ซึ่งมีกำหนดเนื้อหาข้อบังคับไว้ 96 มาตรา โดย "นายปรีดี พนมยงค์" หรือ "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 
   

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ 8

 

แต่ผ่านมาเพียง 29 วัน ประเทศไทยต้องตื่นตกใจกับข่าวร้าย และตกอยู่ในความโศกเศร้าต่อการสิ้นพระชนม์ขององค์พระประมุขของประเทศ ด้วยต้องพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 อย่างมีเงื่อนงำ และในค่ำวันสวรรคตนั้น รัฐบาลได้เรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อแจ้งให้สมาชิกทราบเรื่อง และเร่งสรรหาผู้สืบสันตติวงศ์ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติ "ถวายราชสมบัติ"ให้แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จากนั้น "นายปรีดี"จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบในกรณีสวรรคต

 

ย้อนรอย"89 ปีรธน.ไทย"ผลัดแผ่นดิน-ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 EP.2

 

เหตุการณ์สวรรคตครั้งนั้น จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญยิ่งอีกครั้งของประเทศ เพราะก่อให้เกิดผลสะเทือนไปถึงการเมืองไทยอย่างรุนแรง และในเดือนสิงหาคมปีนั้น จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2489 ประเทศไทย จึงมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ"พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์"


  "พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์"

 

แต่การบริหารประเทศของผู้นำคนใหม่ ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก โดยช่วงวันที่ 19-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปัตย์ ได้พากันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ นานถึง 7 วัน 7 คืนติดต่อกัน จนถูกเรียกว่า "มหกรรม 7 วัน" แต่การลงมติกลับปรากฏว่า ได้รับคะแนนไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอย่างท่วมท้น ท่ามกลางกระแสกดดันอย่างมากทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร พลเรือตรี ถวัลย์ จึงต้องประกาศลาออกในวันรุ่งขึ้น แต่ในที่สุดก็กลับเข้ารับตำแหน่งต่อไปอีกครั้งในวันถัดมา

 

พลโทผิน ชุณหะวัณ แกนนำกำลังทหาร เข้ายึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล"พลเรือตรี ถวัลย์"

 

กระทั่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 "พลโท ผิน ชุณหะวัณ" จึงเป็นแกนนำกำลังทหาร เข้ายึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล"พลเรือตรี ถวัลย์" ที่ได้ชื่อว่ารับช่วงต่อมาจาก"นายปรีดี" โดยอ้างว่า ไม่สามารถสะสางกรณีสวรรคตได้ และได้ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2489 ทิ้ง รวมอายุการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียง 1 ปี 5 เดือน กับอีก 28 วัน 

 

โดยเหตุการณ์รัฐประหารนี้ ยังทำให้ "นายปรีดี"และ"พลเรือตรี ถวัลย์"ต้องระหกระเหินหลบหนีออกนอกประเทศไปยังสหรัฐอเมริกาและจีน และยังส่งผลให้กลุ่มการเมือฝ่าย"นาย ปรีดี"ต้องพลอยหมดบทบาทตามไปด้วย

 

ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีหลบหนีจากการรัฐประหารไปต่างประเทศ

    

และวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะก่อการ จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ ที่รู้จักกันว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม"เพราะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญที่เตรียมไว้นี้ ไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำนั่นเอง

 

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

 

จากนั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นายควง อภัยวงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

ขณะที่นายปรีดี เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ในอีกหลายปีต่อมา ระหว่างที่ลี้ภัยในยุโรปว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ นับว่าเป็นกฏหมายปกครองประเทศ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

การต่อสู้ทางการเมือง ที่นำไปสู่การยึดอำนาจจากรัฐบาล ก็ยังมิได้ทำให้สถานภาพของการเมืองไทยในช่วงนั้น ถูกพัฒนาไปตามที่ควรจะเป็น แต่ยังคงมีการต่อสู้กันระหว่างผู้นำในระบอบเก่ากับระบอบใหม่ พร้อมๆกับเกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มผู้นำของระบอบใหม่ด้วย จึงส่งผลถึงการบริหารประเทศ สืบเนื่องยาวนานต่อไปอีกหลายปี

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ