ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมชุด ‘นักสืบของอดีต’ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน” ภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงการต่อยอดงานวิจัยด้านโบราณคดีสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม “บอร์ดเกม” ว่า โครงการดังกล่าวมี นายศุภร ชูทรงเดช เป็นหัวหน้าโครงการที่รับผิดชอบในการออกแบบและการผลิตสื่อ และนายวริศ โดมทอง เป็นนักวิจัยด้านการพัฒนาเกม ที่ร่วมพัฒนาโครงการตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการชอบค้นหาความท้าทาย อีกทั้งมีทีมวาดภาพประกอบและกราฟฟิกดีไซน์ ทำให้เกมมีความสะดุดตาถูกใจผู้เล่นและผู้สะสม
ผลงานบอร์ดเกม "นักสืบของอดีต" เป็นโครงการนวัตกรรมที่พัฒนาจากงานวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลการวิจัยจากคณะนักวิจัยโครงการกลุ่มเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เรื่อง “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งมีตนเองเป็นหัวหน้าโครงการ เป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่นำผลงานวิจัยด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้ผ่านการเรียนรู้จากบอร์ดเกม จำนวน 3 ชุดความรู้ คือ
- บอร์ดเกมที่ 1 นักสืบชาติพันธุ์ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดอื่น ๆ ทำให้รู้จักเกิดความเข้าใจคนต่างวัฒนธรรม
- บอร์ดเกมที่ 2 ปริศนาโลงไม้ ที่สร้างความเข้าใจและความรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมโลงไม้ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอำเภอปางมะผ้าที่มีอายุเก่าถึงกว่า 2,000 ปีมาแล้ว การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน มีลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงทั้งในอดีตและปัจจุบัน
- บอร์ดเกมที่ 3 นักสืบของอดีต เป็นชุดเกมที่ใหญ่ที่สุด ที่ส่งเสริมทักษะในการสืบค้นเรื่องราวของคน สังคม และวัฒนธรรมในอดีต ด้วยกระบวนการทางโบราณคดี โดยมุ่งให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา พร้อมกับให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นในทุกระดับวัย
ที่ปรึกษาโครงการวิจัย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับตนเอง คือกระบวนการออกแบบที่พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด และการทดสอบเกมจากหลายกลุ่มหลายช่วงอายุที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน ก่อนที่จะออกแบบชุดเกมแต่ละชุด ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ความสนุก และรูปแบบต้องโดนใจคนเล่นด้วย โดยเกมต้นแบบสำหรับชั้นประถมปลาย-มัธยมต้นผ่านกระบวนการตรวจสอบจากนักวิจัยและเยาวชนชาติพันธุ์ชาวไทใหญ่ ล่าหู่ดำ ม้ง ลีซอ ปกาเกอะญอ ละเว๊อะ คนเมือง จากโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงนักศึกษาภาควิชาโบราณคดี และคณะนักวิจัย
ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช กล่าวเสริมว่า ได้มีโอกาสทดลองเล่นเกม เพื่อทดสอบว่าเกมที่ออกแบบเป็นอย่างไร คนไม่เคยเล่นจะสนุกหรือไม่ เหมาะสำหรับการเล่นในหมู่เพื่อน คนต่างวัย ครอบครัวหรือไม่ ที่สำคัญบอร์ดเกมทำให้เราได้วางโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับเล่น คุย หัวเราะ สงสัย อยากรู้ สนทนา วิเคราะห์ รวมทั้งได้รับความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน เพราะเกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนหลายกลุ่มหลายวัย ฯลฯ จึงเป็นเกมที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ทุกภาษาและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ผลงานได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วโดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แต่เสียดายที่การผลิตต้นแบบที่ทำเสร็จสิ้นยังเป็นเพียง “โบราณวัตถุ” ที่ไม่สามารถจะต่อยอดไปสู่การผลิตจำนวนมาก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจที่อยากมีเกมที่ผลิตโดยคนไทยได้เล่น หรืออยากเก็บสะสม รวมทั้งแจกให้โรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจร่วมส่งเสริมต่อยอด เพื่อให้ผลงานของคณะวิจัยที่ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพนี้ได้ถูกผลิตต่อไปจำนวนมาก เพื่อจะได้ส่งต่อให้กับเยาวชนต่อไป โดยบอร์ดเกมดังกล่าวมีศักยภาพที่สามารถจะพัฒนาเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมในอดีตบนดินแดนประเทศไทยได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง