ข่าว

รู้ยัง  สิ่งเดียวที่ยังยึดรั้งไว้ไม่ให้ “ครูถอดใจลาออก"

รู้ยัง สิ่งเดียวที่ยังยึดรั้งไว้ไม่ให้ “ครูถอดใจลาออก"

08 ธ.ค. 2564

เปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนตัวละคร ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาคุมกระทรวงศึกษาธิการ หนังม้วนเดิมถูกนำมาฉายซ้ำไม่รู้กี่รอบ แต่แก้ปัญหา “หนี้ครู” ไม่ได้ นับวันยิ่งกลายเป็นหนี้กองโต สวนทางกับคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ อย่างน่าใจหาย แต่ไม่ทำให้ “ครูถอดใจลาออก” เพราะอะไร

“ครูถอดใจลาออก" คำนี้ ทำให้ครูจำนวนมากรู้สึกเหมือนกันว่า อยากลาออก โดยเฉพาะครูที่มีอายุมาก รับราชการมานาน ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร จะเห็นได้ว่า การศึกษาไทยมันบิดเบี้ยว เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

 

แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเกิดขึ้นเฉพาะส่วนบนที่เป็นระบบริหาร ระบบโครงสร้างศธ. ตลอดระยะเวลาที่มีการใช้คำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” การปฏิรูปเหล่านั้นไม่เคยส่งผลถึง “ครู” และ “นักเรียน” เลย จึงทำให้ “ครูถอดใจ” อยากลาออก แต่สิ่งเดียวที่ยังยึดรั้งครูไว้ไม่ให้ลาออก คือ “หนี้” ลาออกไม่ได้ ถ้าไม่หมดหนี้

 

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 04005/1452 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั่วประเทศ

 

โดยกำหนดการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ดังนี้

1. มาตรการสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กู้เงิน

 

1.1 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มที่ปลอดหนี้สิน กลุ่มที่มีหนี้สิน และกลุ่มข้าราชการบำนาญ หากประสงค์ยื่นกู้สินเชื่อตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 เป็นต้นไป กำหนดมาตรการ ดังนี้

1. ขอเอกสารตรวจสอบสิทธิ์รับรองการกู้เงิน ณ หน่วยเบิกต้นสังกัด

2. การกู้เงินให้ใช้อัตราเงินเดือน หรือเงินบำนาญเป็นฐานแล้วแต่กรณีในการยื่นกู้สินเชื่อเท่านั้น (ไม่รวมค่าตอบแทนและวิทยฐานะในการคำนวณสินเชื่อ)

 

3. หากจัดทำเอกสารเป็นผู้มีสิทธิ์กู้เงินเกินกว่าอัตราเงินเดือน หรือเงินบำนาญเป็นฐาน แล้วแต่กรณี หน่วยเบิกต้นสังกัด ไม่ดำเนินการ หักเงิน ณ ที่จ่ายให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสถาบันการเงิน

 

4. แนวทางการดำเนินการ สพฐ. ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินกำหนดเพดานการกู้เงิน โดยใช้อัตราเงินเดือน หรือเงินบำนาญเป็นฐานในการยื่นกู้สินเชื่อ หากไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ สพฐ.กำหนด หน่วยเบิกต้นสังกัดไม่ดำเนินการ หักเงิน ณ ที่จ่ายให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือสถาบันการเงิน

 

2. การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

2.1 พัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการ 1-5 ปี เพื่อให้มีความรู้ทางด้านการเงิน การคลัง และการออม ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)

2.2 พัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการ 6-60 ปี เพื่อให้ความรู้ด้านการเงิน การออม การวางแผนการใช้จ่ายเงิน และการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน ร่วมกับศธ.

 

3. กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เป็นหน่วยเบิกเป็นสถานีแก้หนี้ครู

 

3.1 จัดทำฐานข้อมูลหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ และจัดหมวดหมู่ของปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ

 

3.2 จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบเงินเดือนคงเหลือสุทธิ ให้เป็นไปตามระเบียบการทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551

 

3.3 ควบคุมการรับรองเงินเดือน การหักเงิน ณ ที่จ่าย การรับรองการให้กู้ การควบคุมยอดหนี้รวมของครูให้ไม่เกินความสามารถชำระหนี้และการให้กู้ในอนาคตในจุดเดียว

 

3.4 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการดำเนินชีวิตตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม

 

3.5 เป็นตัวกลางเจรจา ไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ร่วมกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ รายที่มีปัญหา และสามารถเข้ารับคำปรึกษาปัญหาทางการเงินของครู

 

4. เผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ สพฐ.วิถีใหม่ เอื้ออาทรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

อ้างอิง https://www.komchadluek.net/news/495827

 

เมื่ออ่านจบครบถ้วนกระบวนความ ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรการดังกล่าวข้างต้น สามารถเรียกว่า “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ได้หรือไม่ ในเมื่อเนื้อหาและข้อปฏิบัติล้วนกล่าวถึงการก่อหนี้ในอนาคตของข้าราชการครู

 

และการสร้างองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการวางแผนการใช้เงินในอนาคต แปลง่ายๆ คือ ทำให้ครูกู้เงินยากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาหนี้ในอนาคต ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้สินในปัจจุบันอย่างที่หลายคนเข้าใจ

 

ขอเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินครู หรือแก้ “หนี้ครู” ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา ครูอยากลาออก โดยการชำระหนี้ให้กับครูที่ประสงค์จะลาออก หรือหาแนวทางวิธีการพักชำระหนี้ให้กับครูที่ลาออก

 

ไม่ให้กระทบกับรายได้หลังเกษียณอายุราชการ ขอรับรองว่า มีครูจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะลาออกทันที เพื่อปลดเปลี้ยงภาระต่างๆ ที่ทับถมลงบนสองบ่าของครูอย่างไม่มีวันลดละ ยิ่งปฏิรูปการศึกษาภาระยิ่งมากขึ้นทุกวัน

      ลาออกปลดหนี้ ใครจะสมัครยกมือขึ้น

     ...บทวิเคราะห์...โดยชัยวัฒน์ ปานนิล....