นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการแถลงสถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกวันนี้จากการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี พบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 266,102,832 ราย เสียชีวิตกว่า 5,270,473 ราย ส่วนในประเทศไทยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,811 ราย เสียชีวิต 22 ราย กำลังรักษา 69,010 ราย การฉีดวัคซีนยังเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ
ด้านสถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 "โอไมครอน" ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางสาธารณสุข ที่ผ่านมาการกลายพันธุ์เราพบอยู่ตลอดเวลา แต่การกลายพันธุ์มีความสำคัญ 4 ประการ คือ
1.กลายพันธุ์แล้วแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น
2.กลายพันธุ์แล้วความรุนแรงของโรคจะมากขึ้น
3.กลายพันธุ์แล้วดื้อต่อการรักษาและดื้อต่อยา
4.กลายพันธุ์แล้วทำให้วัคซีนทีประสิทธิภาพลดลง
อย่างไรก็ตามการระบาดของโควิดโอไมครอนจะใกล้เคียงกับไข้หวัดทั่วไป เพราะมีการติดเชื้อจำนวนมากแต่ความรุนแรงของอาการลดลงเรื่อย ๆ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอไมครอน โดยความรุนแรงของโอไมครอนอาจจะน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ขณะนี้พบติดเชื้อ 47 ประเทศ โดยต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน การติดเชื้อในแอฟริกาใต้ และการติดเชื้อจากการเดินทาง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับชาวสเปนที่ตรวจพบเชื้อโอไมครอนขณะนี้นั้นตรวจสอบพบว่า ชายสัญชาติอเมริกาเดินทางมาไทยเมื่อ 29 พ.ย. 64 ไม่แสดงอาการ ตรวจพบเชื้อ 1 ธ.ค. 64 ขณะนี้เข้ารับการรักษาแล้ว และมีอาการน้อยมาก ผลตรวจต่าง ๆ เป็นปกติ นอกจากนี้ สธ.ได้มีการตรวจสอบพบว่า ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพราะขณะที่นั่งเครื่องนั่งบินมายังประเทศไทยนั่งคนเดียว และสวมหน้ากากขณะอยู่ภายในโรงแรมตลอดเวลา สำหรับผู้ที่มีประวัติใกล้ชิด สธ.ได้ตรวจหาเชื้อย่างละเอียด ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบมีอาการผิดปกติ แต่จะมีการติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค
ส่วนสถานการณ์ โอไมครอน ขณะนี้พบว่ามีการระบาดของเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ 2-5 เท่า แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ หรืออาการน้อย คล้ายกับติดเชื้อไข้หวัดแยกจากสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ยาก มีการติดเชื้อผ่านละอองฝอย รายงานจากต่างประเทศส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อไม่ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ขณะนี้ยังไม่มีการรายว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโอไมครอน
ดังนั้นมาตรการที่องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำคือ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 95 ล้านโดส อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างดี นอกจากนี้สธ.ได้มีการเข้มงวดในมาตรการต่าง ๆ สำหรับผู้ที่เข้าข่ายความเสี่ยงที่อาจจะมีการติดเชื้อ โอไมครอนอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง