ข่าว

“ตลาด-ปากน้ำ”
 อีกปัจจัยทำให้อยุธยารุ่งเรือง

“ตลาด-ปากน้ำ” อีกปัจจัยทำให้อยุธยารุ่งเรือง

24 ก.พ. 2553

นักวิชาการหลายๆ ท่านกล่าวว่าเมืองในสมัยโบราณ เช่น เมืองอยุธยา เป็น “เมืองน้ำ” กล่าวคือมีแม่น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีพ ทั้งทำประมง เกษตรกรรม และคมนาคม

  อยุธยาเป็นเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ จนมีลักษณะเป็น “เกาะ” แม่น้ำสายสำคัญได้แก่ “แม่น้ำเจ้าพระยา” และ “แม่น้ำป่าสัก” ที่โอบล้อมเกาะเมืองอยุธยาเอาไว้ส่วนมากผู้คนมักจะลืมไปว่าพ่อค้า หรือชาวต่างชาติต่างๆ ที่เดินเรือเข้ามาค้าขายกับผู้คนในยุคกรุงศรีอยุธยา เดินเรือเข้ามาทางไหน?

 ในเอกสาร “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บันทึกเรื่องสินค้าจากเมืองปากใต้ (หมายถึงหัวเมืองที่อยู่ทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา รอบปากอ่าวไทย ไม่ใช่เมืองปักษ์ใต้) ว่า

 “…อนึ่ง เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี แลบ้านบางตะบูน แลบ้านบางทะลุ บันทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเลา ปลากระพง ปลาทู ปลากระเบนย่าง มาจอดเรือขายแถว ท้ายวัดพระนางเชิง...”

 เมื่อนำหลักฐานนี้พิจารณาประกอบกับแผนที่เกาะอยุธยาแล้ว บริเวณวัดพระนางเชิง หรือวัดพนัญเชิง (ปัจจุบัน) ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักมาสบกัน บริเวณนั้นเรียกว่า ปากน้ำบางกะจะ (หรือปัจจุบันเรียก ปากน้ำแม่เบี้ย)

 บริเวณปากน้ำนี้เองที่เป็นทางผ่าน หรือจุดจอดเรือเพื่อค้าขายกับชาวบ้าน อีกทั้งบริเวณนี้ยังมี ตลาดน้ำวนบางกะจะ ตั้งอยู่ด้วย เป็นตลาดเก่าสมัยอยุธยา ปรากฏอยู่ในเอกสารเก่าและวรรณคดียุคกรุงศรีอยุธยา

 มีนักวิชาการสันนิษฐานว่า “บางกะจะ” น่าจะเพี้ยนมาจาก “บางกระจับ” หมายความว่า เป็นบริเวณที่มี ต้นกระจับ ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง

 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นเมืองเก่าเมืองแก่และเป็นศูนย์รวมความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในสมัยนั้น ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม-วัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นเบ้าหลอมความเป็นไทยที่เราคุ้นตากันอยู่ทุกวันนี้

 การศึกษาเกี่ยวกับเมืองเก่าอยุธยาจึงไม่ควรจะมีแต่วัดกับวังเพียงเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอย่างอื่นอีกที่ทำให้อยุธยาเป็นราชธานีที่รุ่งเรืองขึ้นมาได้
         
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"