ย้อนไทม์ไลน์ "มหาไพรวัลย์" เปิดปมลึก สึกเพราะอะไร ขอเรียก มหา อย่าเรียก ทิด
ย้อนไทม์ไลน์ "มหาไพรวัลย์" เปิดปมลึก สึกเพราะอะไร พระมหานภัณฑ์ ขอให้เรียก "มหา" อย่าเรียก "ทิด" ถือเป็นการให้เกียรติ
จบประเด็นดราม่าไปแล้ว สำหรับ "พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ" หรือ "มหาไพรวัลย์" หลังลาสิกขาอย่างเป็นทางการ ในช่วงเช้าวันที่ 3 ธ.ค.2564 ที่วัดสระเกศ กับพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตุโต จากเดิมที่ประกาศว่าจะลาสิกขา วันที่ 4 ธ.ค.2564 ซึ่งปมเหตุของการลาสิกขานั้น มีกระแสมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งถูกตำหนิเรื่องของการ live ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ค รวมทั้ง ประเด็นการแต่งตั้ง "เจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง"
พระมหานภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ท่านมหาไพรวัลย์ ได้มาขอให้ทำการลาสิกขา เมื่อเวลา 07.55 น. โดยเรื่องการลาสิกขานั้น ท่านมหาไพรวัลย์ได้แจ้งให้ทราบตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.แล้ว ซึ่งเป็นวันที่ตนได้ไปบรรยายธรรมร่วมกับท่านมหาไพรวัลย์ ซึ่งหลังจากที่สึกแล้ว ท่านมหาไพรวลัย์ ยินดีที่จะมาช่วยงานมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) หรือ IBHAP Foundation ซึ่งตนเป็นประธานอยู่ด้วย ทั้งนี้ ท่านมหาไพรวัลย์ ยืนยันที่จะทำงานด้านพระพุทธศาสนาต่อไป และสถานะที่ท่านสึกไปแล้ว แนะนำว่าควรเรียกท่านว่า "มหา" มากกว่าเรียกว่า "ทิด" เพื่อเป็นการให้เกียรติท่าน
ด้าน พระมหาสมพร ธัมมธารี เลขานุการรักษาการเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง กล่าวถึงปมเหตุสำคัญที่คาดว่าทำให้ มหาไพรวัลย์ ตัดสินใจลาสิกขา ว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีพระเถระระดับพระสังฆาธิการ แต่ไม่รู้ว่ามาจากที่ใด มาทำการสอบท่านมหาไพรวัลย์ แต่ไม่เห็นเอกสารว่าเรื่องอะไร เพราะมีเพียงพระราชปัญญาสุธี รักษาการเจ้าอาวาสวัดสร้อยทองเท่านั้น ที่อยู่กับท่านมหาไพรวัลย์ ในระหว่างที่มีการสอบ
จากนั้น ได้มีการให้ท่านมหาไพรวัลย์ เซ็นรับทราบในเอกสาร คาดว่า น่าจะเป็นเรื่องการขอไม่ให้ Live และหลังจากนั้น ท่านมหาไพรวัลย์ก็มีสีหน้าไม่ดี แล้วท่านก็งดไม่ได้ Live อะไรอีกเลย คิดว่าเหตุจากเรื่องดังกล่าว น่าจะทำให้ท่านอึดอัดใจ เลยตัดสินใจแจ้งกำหนดชัดเจนว่าจะลาสิก ส่วนเรื่องพระภายในวัดสร้อยทอง ยืนยันว่า ท่านมหาไพรวัลย์ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใครภายในวัด
ย้อนไทม์ไลน์ "มหาไพรวัลย์" เริ่มส่งสัญญาณลาสิกขา
- ช่วงค่ำวันที่ 29 ต.ค.2564 มหาไพรวัลย์ หรือ พระมหาไพรวัลย์ วรวัณฺโณ พระนักเทศน์ชื่อดัง วัดสร้อยทอง ร่ำไห้ผ่านการไลฟ์สด ทางเพจส่วนตัว ความยาว 1 ชั่วโมง 45 นาที โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่าจะลาสิกขา เนื่องจากกระแสต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเอง อาจเป็นสาเหตุให้ พระราชปัญญาสุธี (อุทัย ญาโณทโย) หรือ เจ้าคุณอุทัย รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง ไม่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส จึงจะขอรักษาความเป็นธรรมให้พระราชปัญญาสุธี ที่เปรียบเสมือนพ่อและครูอาจารย์ การที่ท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส อาจจะมาจากตน ที่นำปัญหามาให้ ตอนหนึ่งของการไลฟ์ พระมหาไพรวัลย์ ร่ำไห้ขณะกล่าวว่า ก่อนบวชเณร จำได้แม่นยำ แม่เรียกไปนอนด้วย พร้อมพูดว่าจะเป็นการกอดกันครั้งสุดท้าย ซึ่งถือว่าแม่มุสา แม่อาจจะพูดผิด เร็ว ๆ นี้จะได้กอดกันอีก
- 30 ต.ค.2564 มหาไพรวัลย์ เปิดใจให้หลังประกาศลาสิกขา ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับวัด แต่มีปัญหากับระบบ กับการปกครอง กับโครงสร้างคณะสงฆ์ที่ไม่เป็นธรรมมากเกินไป ที่มาจากเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนกระทั่งลามมาถึงวัด ทั้งที่คณะสงฆ์ควรเป็นต้นแบบของความดีงาม ถ้าวงการสงฆ์ยังหาความดีงามไม่ได้ เป็นต้นแบบของมโนธรรมสำนึกไม่ได้ ก็คงจบแล้ว ทั้งนี้ ไม่ใช่การกล่าวอ้าง แต่ตนเองมีเห็นอย่างนี้จริง ถ้าใครจะเห็นว่าเป็นธรรม ก็ถือเป็นความเห็นของคนนั้น แม้เรื่องนี้ยังไม่มีเอกสารออกมา ก็อยากให้นำเรื่องนี้มาพูดในที่สาธารณะ
- หลังจากนั้น มหาไพรวัลย์ ได้มีการโพสต์ข้อความตัดพ้อ ถึงปัญหาการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มาอย่างต่อเนื่อง
- จนล่าสุด วันที่ 28 พ.ย.2564 มหาไพรวัลย์ ได้โพสต์ข้อความแบบมีนัยยะสำคัญ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเพจเฟซบุ๊ค จาก พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ เป็น ไพรวัลย์ วรรณบุตร ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ว่ามีการส่งสัญญาณที่จะมีการลาสิกขาอีกครั้ง
- 30 พ.ย.2564 พระมหาสมปอง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมลาสิกขา ของมหาไพรวัลย์ ว่าเป็นเรื่องจริง โดยจะทำการลาสิกขา วันที่ 4 ธ.ค.2564
- แต่ล่าสุด 3 ธ.ค.2564 มหาไพรวัลย์ ได้โพสต์ภาพ แต่งชุดฆราวาส หลังลาสิกขา กับ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต ที่วัดสระเกศ พร้อมเขียนข้อความระบุว่า
สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ ข้าพเจ้า ขอบอกคืนสิกขา
วินยํ ปจฺจกฺขามิ ข้าพเจ้า ขอบอกคืนพระวินัย
ปาโมกฺขํ ปจฺจกฺขามิ ข้าพเจ้า ขอบอกคืนปาฎิโมกข์
คิหีติ มํ ธาเรถ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์
เป็นอันจบประเด็นดราม่า การลาสิกขา ของ "มหาไพรวัลย์" แต่ปมเหตุสำคัญ ยังคงเป็นคำถามคาใจ ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่