ข่าว

เกษตรกรเฮ ทีมวิจัย "อ.อ๊อด" นำรถโมบายแล็ปสารกัญชงให้บริการแล้ว

เกษตรกรเฮ ทีมวิจัย "อ.อ๊อด" นำรถโมบายแล็ปสารกัญชงให้บริการแล้ว

02 ธ.ค. 2564

รถโมบายแล็ปตรวจสาร CBD และ THC จากฟาร์มกัญชงได้ทั่วประเทศ ทีมวิจัย "อ.อ๊อด" เผยเปิดให้บริการเกษตรกรผู้ปลูกกัญชงแล้วประเดิมพื้นที่อ.สามพราน นครปฐม คิวจองยาวถึงปี2565

"อ.อ๊อด" รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)หรือ ม.เกษตร  เปิดเผย ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ทีมวิจัยอ.อ๊อด หรือ สถานีวิจัยกัญชงของกลุ่ม WPS GROUP ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน  เพื่อสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกัญชง มีที่ตั้งที่ ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

 

ในการเปิดตัวเทคโนโลยีนวัตกรรมสุดล้ำนี้ มีแขกผู้มีเกียรติ ดารานักแสดง อาทิเช่น คุณชาญณรงค์ ขันฑีท้าว (ติ๊ก กลิ่นสี) มาร่วมงาน รวมถึงบริษัทเอกชนผู้ผลิตกัญชงต้นน้ำ และบริษัทผู้ผลิตปลายน้ำ มาร่วมด้วย โดยในงานได้มีพิธี ลงนาม ความร่วมมือ ทางด้าน อาหารและเครื่องดื่มกัญชง ระหว่าง บริษัท ACBD Agro และ บริษัท เอบีเอ็น ฟู๊ด จำกัด

 

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวถึงการเปิดตัวรถโมบายแล็ป (Mobile Lab) ของเครือ WPS GROUP ว่า เป็นรถติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ไฮเทคสุดล้ำ เคลื่อนที่ เพื่อตรวจ CBD สารที่อยู่ในกัญชงจากฟาร์มกัญชงของเกษตรกรทั่วประเทศ ตามที่่กฏหมายกำหนดให้สามารถนำสารนี้มาใช้ในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง หรือในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เช่นเดียวกับต่างประเทศในยุโรป อเมริกา

รศ.ดร.วีรชัย ให้ข้อมูลต่อว่านับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายด้านกัญชง ซึ่งมีการออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 30 ธันวาคม 2563 ทำให้มีภาคเอกชนและประชาชนหลายฝ่ายได้เดินหน้า ปลูกและสกัดกัญชง 

 

ซึ่งตามกฎกระทรวงสนับสนุนให้นำไปสู่การแปรรูปในด้านอาหารและเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง คาดว่า กัญชงจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศมหาศาล ในการนี้เอกชนหลายฝ่ายจึงเริ่มมีการจับมือเพื่อนำไปสู่การแปรรูปปลายน้ำ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หลายอย่าง

 

ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขระบุชัดเจนว่า สารสกัดในกัญชงที่จะนำมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางอาหารและเครื่องดื่มได้นั้น จะต้องประกอบไปด้วยสารที่ปลอดภัยคือสาร CBD และจะต้องมีสารเสพติดคือสาร THC ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ซึ่งกฎหมายระบุชัดเจนเรื่องการตรวจวัดสารเหล่านี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง HPLC 

 

ไม่เพียงเท่านั้น การตรวจต้องส่งยังหน่วยงานของรัฐเท่านั้น จึงได้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่โดยกลุ่ม WPS ทำรถโมบายเคลื่อนที่พร้อมตรวจสารทั้ง 2 ตัวที่หน้าฟาร์มกัญชง เป็นการอำนวยความสะดวกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้อุตสาหกรรมกัญชงสามารถแปรรูปผลิตสินค้าออกสู่ผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวอีกว่า สาร THC หากตรวจพบเกินมาร้อยละ1 นับเป็นกัญชา ผิดกฏหมายทันที เพราะเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา แม้มีประโยชน์มากมายแต่อยู่ในการควบคุมของกฏหมาย  หากจะนำมาใส่อารหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ไม่เกิน 0.2 % โดยน้ำหนัก

 

แต่เรื่องแบบนี้เกษตรกรไม่รู้ทุกคน ต้องอาศัยเครื่องตรวจ  ซึ่งก็มีกฏบังคับอีกว่าการตรวจจำเป็นต้องตรวจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง HPLC   ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้มีอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย อยู่ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สวทช.

 

"เมื่อเกษตรกรผู้ปกลุกกัญชง ไม่รู้ว่ามีสาร THC มากหรือน้อย เกษตรจะส่งดอกกัญชงมาตรวจที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ  แต่ระหว่างการเดินทางมีความเสี่ยงที่จะถูกจับ เนื่องจากดอกกัญชงคล้ายดอกกัญชามาก  การมีรถโมบายตรวจสานในกัญชงเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรและเพิ่มความแม่นยำในกาารควบคุมคุณภาพคุณภาพของฟาร์มกัญชง เพราะถ้ามีสาร CBD สูงราคาขายก็จะสูงตามไปด้วย" รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ รถโมบายแล็ป (Mobile Lab) ของกลุ่ม WPS GROUP มีต้นทุนสูงถึง 4 ล้านบาท นับเป็นคันแรกของไทยที่เป็นแบบโมบายกัญชง เกษตรกรผู้ปลูกกัญชง สามารถติดต่อช่องทางhttps://m.facebook.com/WPSHEMP/ เพื่อประสานตรวจสาร THC และสาร CBD ในกัญชง ซึ่งขณะนี้มีคิวจองตรวจถึงเดือนมกราคม ปี2565แล้ว