ข่าว

รัฐบาลออก "วีซ่ารักษาพยาบาล" สำหรับต่างชาติรักษาตัวในไทยได้นาน 1 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลเตรียมออก "วีซ่ารักษาพยาบาล" สำหรับต่างชาติยืดเวารักษาตัวในไทยได้นาน 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นกลุ่มโรคที่ใช้เวลารักษาเกิน 90 วัน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความโดยระบุว่า

 รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล โดยระบุ ว่า  รัฐบาลเตรียมออก "วีซ่ารักษาพยาบาล"  "Medical Treatment Visa" เจาะกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่รักษาต่อเนื่องในไทยไม่เกิน 90 วัน พร้อมผู้ติดตาม ดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ 


ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลจำนวนมาก โดยใช้วีซ่าประเภทท่องเที่ยว (Tourist Visa) วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) และมาตรการยกเว้นวีซ่าเฉพาะ 11 ประเทศ ซึ่งการใช้วีซ่าประเภทดังกล่าว มีข้อจำกัดในด้านระยะเวลาพำนักในไทยและเงื่อนไขการเดินทางเข้า – ออกประเทศของผู้ป่วยและผู้ติดตาม ดังนั้น ครม.จึงมีมติเห็นชอบหลักการการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ระยะเวลา 1 ปี เป็นการเฉพาะ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นระยะเวลานาน และเป็นการรองรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของรัฐบาล ที่จะขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 

วีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Treatment Visa) นี้ เป็นการกำหนดประเภทการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาลประเภทใหม่ มีกลุ่มเป้าหมายคือ 


1.ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทยและมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง 

 

2.ผู้ติดตามผู้ป่วย ไม่เกิน 3 คน โดยขอรับวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) รหัส O ซึ่งวีซ่าประเภทใหม่นี้ มีระยะเวลา 1 ปี พำนักในไทยได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน (ขอขยายเวลาพำนักได้หากมีเหตุจำเป็นทางการแพทย์) เป็นแบบ Multiple Entry ใช้เดินทางเข้าออกได้หลายครั้ง โดยมีค่าธรรมเนียมรายละ 6,000 บาท หากขออยู่ต่อมีค่าธรรมเนียมรายละ 1,900 บาทต่อครั้ง 

สำหรับเงื่อนไขการขอรับวีซ่ารักษาพยาบาล


1.จะต้องอยู่ในกลุ่มโรคหรือหัตถการที่ไทยมีศักยภาพ ใช้เวลาในการรักษามากกว่า 90 วัน อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทันตกรรม ศัลยกรรมเสริมความงาม จักษุ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น 
2.สถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องใช้เอกสารหลักฐาน เช่น 
3.หลักฐานทางการเงินที่ครอบคลุมการใช้จ่ายในประเทศไม่น้อยกว่า 800,000 บาท (Bank Statement) โดยแสดงต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ 
4.หลักฐานประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมถึงความคุ้มครองโรคโควิด19 ในไทย วงเงินไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านบาท 
5.เอกสารนัดหมายกับสถานพยาบาล โดยแจ้งวันเวลานัดหมายล่วงหน้า 30 วัน

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติรับทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

logoline