ข่าว

เผยช่วงโควิด-19 สถิติความรุนแรงครอบครัวพุ่ง สสส.ผนึกสื่อสอดส่องการนำเสนอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สสส.ผนึกสื่อสารมวลชน ยุติความรุนแรงในครองครัว เผยข้อมูลชวนอึ้งช่วงโควิด19 ระบาด ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเด็กถูกล่วงละเมิดซ้ำ 2-3 ครั้งมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากเหล้า ห่วงสื่อทีวีและสื่อใหม่ยังเสนอความรุนแรง

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64  มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดประชุมร่วมกับสื่อมวลชนเรื่อง "ยุติความรุนแรงในครอบครัว...สื่อเติมเชื้อหรือดับไฟ " ผ่านระบบZoom

 

โดยมี รศ.กุลทิพย์  ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นประธาน กล่าวเปิดการประชุมว่า สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก  ได้เล็งเห็นถึงถึงความสำคัญในเรื่องการยุติความรุนแรงในครอบครัว  ดังจะเห็นได้จากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" สอดคล้องกับสหประชาชาติที่กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว

 

 รศ.กุลทิพย์  ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

ทั้งนี้  จากการสำรวจข้อมูลหลายครั้งพบว่า ปัจจัยกระตุ้นสำคัญของการใช้ความรุนแรงมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติดซึ่งแอลกอฮอล์ถือเป็นต้นทางของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ  คือ ด้านสุขภาพ ทำลายภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า  

ด้านอุบัติเหตุทางถนน ที่มากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล ด้านเศรษฐกิจ เกิดความสูญเสียไปมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี และด้านที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว

 

กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะทำให้สื่อมวลชนได้เข้าใจบทบาทของ สสส. และภาคี แล้วยังจะได้รับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัวร่วมกัน    

 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าจากการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในรอบหลายปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจถึงต้นเหตุของรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว  

 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

 

จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19  จำนวน1,692 ตัวอย่าง ในกทม.และปริมณฑลระหว่างวันที่ 17 – 23  ต.ค. 2564 พบว่า ความรุนแรงที่พบมากที่สุดร้อยละ 53.1 คือการพูดจาส่อเสียด เหยียดหยามด่าทอและดูถูก รองลงมาร้อยละ35 คือการห่างเหินไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ตามมาด้วยร้อยละ 22.6 คือการประจานทำให้อายและร้อยละ 20.2คือการทำร้ายร่างกาย

 

ข้อมูลยังระบุชัดเจนร้อยละ 41.5 พบว่ามีความรุนแรงมากขึ้นกว่าช่วงก่อนจะเกิดระบาดของโควิด19  ที่สำคัญร้อยละ 75 ระบุว่ามีเหตุความรุนแรงซ้ำ 2-3  ครั้ง สาเหตุสำคัญร้อยละ 31.4 ตอบว่า มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อถามถึงผลกระทบต่อครอบครัวจากการระบาดของโควิด19 พบว่าร้อยละ82 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 80.2 มีผลต่ออารมณ์ และร้อยละ 31.3 มีผลต่อความสัมพันธ์

 

เผยช่วงโควิด-19 สถิติความรุนแรงครอบครัวพุ่ง สสส.ผนึกสื่อสอดส่องการนำเสนอ

 

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  ระบุด้วยว่า  การแก้ไขปัญหาเมื่อถูกกระทบน่าตกใจว่าร้อยละ52.2 จะใช้การตอบโต้กลับ ร้อยละ 33.2 พูดคุยไกล่เกลี่ย ร้อยละ 20.1  หลบไม่เผชิญหน้า ร้อยละ 11.9 ยอมและวางเฉย มีเพียงร้อยละ 1.4 ที่ดำเนินคดี เมื่อถามถึงการขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาพบว่ามีมากถึงร้อยละ 87 ที่ไม่ได้ขอความช่วยเหลือปรึกษา
               

เผยช่วงโควิด-19 สถิติความรุนแรงครอบครัวพุ่ง สสส.ผนึกสื่อสอดส่องการนำเสนอ

เหตุผลเพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเองได้ร้อยละ 75.6 เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวร้อยละ 61.8 มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาร้อยละ40  ที่น่าตกใจคือรอยละ75.4 ไม่ทราบว่าจะปรึกษาใคร ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนพบว่าหนังสือพิมพ์รายวันนั้นมีการเสนอเนื้อหาและภาพที่มีความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัวลดลง  

 

แต่ที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์มีการนำเสนอฉากหรือเรื่องราวการคุกคามทางเพศ การข่มขืน การใช้ความรุนแรงกับคู่รัก สร้างมายาคติให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนั้นสื่อออนไลน์สมัยใหม่ยังมีการความรุนแรงทางเพศเช่นจากการเก็บข้อมูลมิวสิควิดิโอ 19 เพลงมีเนื้อหาที่คุกคามทางเพศกดทับผู้หญิงจึงอยากให้สื่อและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันณรงค์เรื่องนี้ต่อไป


          ดร.ชเนตตี  ทินนาม  คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    

ดร.ชเนตตี  ทินนาม  คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในเรื่องการนำเสนอข่าวความรุนแรงสื่อยังขาดการทำงานอีก 2 มิติคือ หนึ่งสื่อมักมองความรุนแรงทางตรงที่ปรากฎอยู่ในฉากละครและข่าวแต่ไม่ได้มองให้ลึกในเชิงโครงสร้างความรุนแรงในครอบครัว สองสื่อควรจะต้องมองความรุนแรงบนฐานของจากเพศสภาพก้าวลึกไปมากกว่าเพศหญิงเพศชาย ไม่เช่นนั้นการมองปัญหาความรุนแรงของสื่อยังคงมีการผลิตภาพซ้ำให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพียงแค่เรื่องส่วนตัวซึ่งเป็นผลจากนโยบายสาธารณะของรัฐที่ปกป้องผู้หญิงน้อยเกินไปและระบบทุนนิยมปิตาธิปไตยในสังคมที่หล่อเลี้ยงและกำกับสื่อ

 

การใช้ความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นความผิดทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว การเพิกเฉยของรัฐและการผลิตซ้ำของสื่อจึงถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่คอยหล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความรุนแรงทางทางตรงต่อไป ทางออกของสื่อต้องไม่ยอมรับให้ความรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นความชอบธรรม และควรต้องทำงานด้วยหลักความรับผิดชอบไม่ตำหนิผู้เสียหาย รู้เรื่องกฎหมาย มีการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเสมอหน้าไม่เลือกฐานะครอบครัว มองปัญหาความรุนแรงทั้งบริบทรอบด้าน ยกระดับให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว นอกเหนือจากการนำเสนอข่าวและข้อมูลแล้วจะต้องให้ข้อมูลช่องทางในการช่วยเหลือด้วย

   นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส, อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสสส.

 

นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส, อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสสส.กล่าวว่ามีการตั้งคำถามว่าการขายความรุนแรงคือความอยู่รอดของสื่อจริงหรือก็ต้องยอมว่าในอดีตการนำเสนอภาพ ข่าว เสียง ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ของสื่อมวลชนนั้นทีมีอยู่จริงจนถึงปัจจุบัน  เพราะผู้บริหารสื่อหรือเจ้าของธุรกิจสื่อจำนวนไม่น้อยมองว่าข่าวประเภทนี้คนอ่าน คนดู คนฟังชอบหรือให้ความสนใจเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์หรือสปอนเซอร์สนับสนุนเพิ่มรายการขึ้น กลายเป็นว่าการนำเสนอความรุนแรงแรงผ่านสื่อทำให้ต่ออายุของธุรกิจต่อไปได้ แต่ปัจจุบันนี้สื่อหนังสือพิมพ์ก็เริ่มลดการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ลง แต่สื่อโทรทัศน์บางส่วนรวมทั้งสื่อออนไลน์บางส่วนยังคงมีการนำเสนอความรุนแรงในรูปแบบต่างๆอยู่เช่นรายการสนทนาทางโทรทัศน์บางสถานีเห็นได้ชัดว่าเมื่อนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัว นำสามีภรรยามาทะเลาะกับผู้หญิงอื่นออกอากาศกลายเป็นข่าวที่คนสนใจ

 

เมื่อไปดูเรทติ้งรายการพุ่งสูงขึ้นรายได้ของบริษัทก็มีกำไรมากขึ้น  แต่ถึงที่สุดในอนาคตเชื่อว่าผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดเนื้อหาและคุณภาพของสื่อเพราะการนำเสนอข่าว ภาพ เสียงที่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงนอกจากจะทำร้ายเหยื่อซ้ำแล้วอาจจะเป็นการปลูกฟังความคิดการใช้ความรุนแรงให้กับประชาชนไปด้วยโดยไม่รู้ตัว สื่อจึงต้องสกรีนตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมากำกับดูแลหรือลงโทษ
             

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายโดยนางกรรณิกา วิริยะกุล  บรรณาธิการบริหาร  นสพ.ไทยโพสต์กล่าวว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ต้องถามกลับไปเช่นกันว่าสื่อจะต้องรับผิดชอบทั้งหมดหรือไม่เพราะภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปหนังสือพิมพ์เดิมเสนอข่าวจากการแถลงข่าวที่เชื่อถือได้แต่ปัจจุบันต้องส่องจากเฟซบุ๊กว่าใครทำอะไรคำถามคือเราจะเอาความเข้มข้นทางวิชาการหรือจะเอาใจวัยรุ่น ไทยโพสต์ยืนยันว่าจะยังคงความเข้มข้นก็หวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยให้สื่อหลักที่ไม่ทำตามกระแสให้อยู่ได้

 

ส่วนกฤษณ์ชนุตม์  เจียรรัตนกนก  บรรณาธิการข่าวไทยรัฐทีวี กล่าวว่า แนวทางของไทยรัฐทีวีทำงานอยู่บนความรับผิดชอบหากเป็นคดีสะเทือนขวัญก็ต้องนำเสนอเพื่อตักเตือนสังคม นอกจากนี้ยังมีทีมงานคอยดูแลถ้อยคำ การพาดหัว มีกรรมการจริยธรรม 7 คนมาคอยดูแลหากทำอะไรผิดพลาดหน่วยงานอย่างกสทช.จะมีบทลงโทษตาม ม.37 อยู่แล้ว
               

ด้านนายพิธพงษ์   จตุรพิธพร ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมและผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 แสดงความเห็นว่านโยบายของสถานีคือข่าวความรุนแรงในครอบครัวจะพยายามไม่นำเสนอยกเว้นคดีใหญ่จริงๆจะนำเสนอในมุมของการดำเนินคดีอย่างเดียว ก่อนการนำเสนอภาพหรือเรื่องราวออกหน้าจอจะถามความสมัครใจก่อน นอกจากนั้นยังเสนอแง่มุมของกฎหมายและช่องทางการร้องเรียนด้วย อยากให้มีการให้ข้อมูลและฝึกอบรมเรื่องนี้กับทีวีช่องต่างๆโดยตรง 

 

logoline