ข่าว

"นายกฯ" เร่งเครื่องเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี

"นายกฯ" เร่งเครื่องเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี

30 พ.ย. 2564

โฆษกรัฐบาลเผย "นายกฯ" เร่งเครื่องเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี เร่งรัด สคร. เบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ สศค. รายงาน เเนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น ท่องเที่ยว-ลงทุน-ส่งออก ขยายตัวต่อเนื่อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "นายกรัฐมนตรี"และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าเศรษฐกิจ กำชับให้เร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการผลักดันการเปิดประเทศที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคการลงทุนและการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน

 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม จำนวน 269,883 ล้านบาทหรือคิดเป็น 89% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และสำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2565 สำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ที่ได้เริ่มการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2565มา 1 เดือน (ตุลาคม 2564) มีผลการเบิกจ่าย 3,222 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

 

ทั้งนี้ รัฐวิสากิจที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนและมีการเบิกจ่ายสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (ปตท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)การรถไฟขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)

 

โดยโครงการขนาดใหญ่สำคัญที่เบิกจ่ายได้ตามแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (รฟม.) ผลการเบิกจ่าย 14,273 ล้านบาท คิดเป็น 105% ของการเบิกจ่ายต่อแผน โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- รังสิต(รฟท.)ผลการเบิกจ่าย 8,327 ล้านบาท คิดเป็น117%ของการเบิกจ่ายต่อแผน เป็นต้น 

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังยังรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2564 พบเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีเเนวโน้มดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 อีกด้วย

 

ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนก็มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร นำเข้าสินค้าทุนในเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 21.8ต่อปี มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 22,738.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 17.4 ต่อปี และนอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีทิศทางดีขึ้น

ด้านการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 20,272 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่4,596,227 คน 

 

ทุกภาคส่วนทั้งรัฐวิสาหกิจและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เร่งรัดเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจและส่งเสริมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆเ พื่ออัดฉีดเงินสู่ระบบ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีเพื่อรักษาโมเม้นตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

 

ซึ่งหลายฝ่ายรวมทั้งกระทรวงการคลังยังยืนยันประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 65 อยู่ที่ร้อยละ 4 แม้ไวรัสโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์ ซึ่งทั่วโลกขณะนี้ รวมทั้งประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศบค.ได้สั่งให้มีมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 โอไมครอน  อย่างเด็ดขาดด้วย นายธนกรฯ กล่าว