ข่าว

ย้อนรอย "คดีรถหรู"มหากาพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คดีรถหรู"ถูกจับจ้องจากสังคมอีกครั้ง หลังประธานชมรมฯชื่อดัง ออกมาระบุ จนท.DSI เกี่ยวข้องการทุจริต ขณะที่รองอธิบดีดีเอสไอ ประกาศขีดเส้นระยะเวลา 4 เดือน ต้องจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี "ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์" จึงขอย้อนรอยคดีดังกล่าว ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

ปฐมบทแห่งมหากาพย์"คดีรถหรู"

ปฐมบท "คดีรถหรู" เกิดขึ้นจากที่รถบรรทุก"รถหรู" จำนวน 6 คัน เกิดเหตุไฟไหม้ เมื่อปี 2553 ทำให้ตำรวจและหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ กระทั่งพบว่า"รถหรู" ทั้งหมดจดทะเบียนประกอบขึ้นที่ประเทศไทย โดยนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่จากต่างประเทศ และเมื่อสาวให้ลึกลงไปอีกพบว่าเป็นขบวนการใหญ่ในการเลี่ยง"ภาษีกรมศุลกากร" ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ยุค "ธาริต เพ็งดิษฐ์" เป็นอธิบดี นำ"คดีรถหรู"เข้าเป็นคดีพิเศษ เมื่อปี 2556 ก่อนจะทำการตรวจสอบ"รถหรู"ที่อยู่ในประเทศไทย แล้วทำการอายัดทั้งหมด (ปัจจุบันยังคงอายัดอยู่ 854 คัน) 

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

ช่วงปี 2557 "ดีเอสไอ" เปิดเผยความคืบหน้าเบื้องต้นว่า พบมีรถจดประกอบราคาเกิน 4 ล้านบาท จำนวน 548 คัน (ขณะนั้น) โดยพบว่ามีรถที่กรมศุลกากรต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ.2530 รวมเป็นวงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลขณะนั้นจาก"กรมการขนส่งทางบก"พบว่า มีรถจดประกอบประมาณ 6,575 คัน แต่"ดีเอสไอ"พบมีรถที่หายไปจากสารบบ 1,350 คัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นรถที่นำเข้าทั้งคัน ไม่ใช่รถจดประกอบคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท

 

สำหรับ"รถหรู"ที่ถูกไฟไหม้ 6 คัน ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้"ดีเอสไอ"เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ มีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นขบวนการที่นำรถทั้งคันเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ก่อนนำสำแดงเอกสารเท็จว่าเป็นรถจดประกอบเพื่อ"หลีกเลี่ยงภาษี" และมีอย่างน้อย 2 คัน ที่เป็นรถขโมยมาจากมาเลเซียด้วย หลังจากนั้นจึงได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาชาวมาเลเซีย 2 ราย

DSI บุกอายัด"รถหรู"ตามสถานที่ต่างๆ

จากการแกะรอยของ"ดีเอสไอ" พบว่า การกระทำดังกล่าวดำเนินเป็นขบวนการ มีทั้งข้าราชการในไทย และบุคคลต่างชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการทุจริตในหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการสำแดงเอกสารจดประกอบเท็จแล้ว ยังมีการให้ชาวต่างชาตินำรถเข้ามาใช้ในไทยแต่ทิ้งรถไว้ หรือแม้แต่การ"ขายทอดตลาด"รถยนต์ของกรมศุลกากร มีการนำรถที่สำแดงเอกสารจดประกอบมาร่วมประมูลด้วย

 

สำหรับขั้นตอนการทุจริตนั้น "ดีเอสไอ"เชื่อว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ "ต้นน้ำ" ยัน "ปลายน้ำ" คือ ตั้งแต่นำเข้า จัดทำเอกสารจดทะเบียน และนำเข้ามาเป็นรถจดประกอบในไทย ที่น่าสนใจคือ "ดีเอสไอ" ยืนยันว่า กรณีรถที่จดทะเบียนประกอบหายไปจากระบบจำนวนมากมายขนาดนี้ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีส่วนรู้เห็นกรณีดังกล่าว

พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีดีเอสไอ รองประธานคณะทำงาน"คดีรถหรู"

หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปหลายปี กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรองประธานคณะทำงาน"คดีรถหรู" ได้เรียกประชุมขับเคลื่อนการดำเนินคดีพิเศษ กรณี"รถหรู"ในส่วนที่รับผิดชอบอยู่ทั้งหมด จำนวน 854 คัน พร้อมขีดเส้นระยะเวลา 4 เดือน จะต้องจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วน"รถหรู"ที่ยังอยู่ในอายัด จะเร่งตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด หากไม่พบความผิดก็จะส่งมอบคืนผู้ครอบครอง

รถหรูส่วนหนึ่ง ที่ยังคงอยู่ในการอายัดของ DSI

 

"คดีรถหรู" เริ่มเมื่อปี 2553 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กินเวลาเนิ่นนานกว่า 11 ปี "คดีรถหรู" ยังคงเปรียบเสมือน "มหากาพย์" ที่ยังไม่สิ้นสุด 

 

ขณะที่สังคมไทยต่างจับตามองมาที่ "ดีเอสไอ"ในฐานะผู้รับผิดชอบ ว่าจะเป็นเพียง "เสือกระดาษ"หรือไม่

logoline